วันอังคารที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

การบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา

“Sport Injury”
การบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา
การเล่นกีฬาในปัจจุบันกำลังได้รับความนิยมจากประชาชนมากขึ้น มีการจัดแข่งขันทั้งในระดับนักเรียน อุดมศึกษา ประชาชนทั่วไป และระดับชาติ ผลจากการแข่งขันประการหนึ่งที่เกิดขึ้นก็คือ การได้รับบาดเจ็บจากการกีฬาในแง่ต่างๆมากมาย ทั้งที่เกิดจากอุบัติเหตุ เกิดจากการฝึกซ้อมมากเกินไป หรือแม้แต่ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ในการปฐมพยาบาล ทำให้นักกีฬาผู้นั้นมีประสิทธิภาพลดลง เล่นกีฬาได้ไม่เต็มที่ เกิดเป็นโรคเรื้อรังประจำตัวทำให้เล่นกีฬาไม่ได้ หรือแม้แต่จะออกกำลังกายก็ยังทำไม่ได้ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าเสียใจมาก
                การเล่นกีฬาหรือออกกำลังกาย เป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวันเพราะจะช่วยให้ร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์และมีสุขภาพดีขึ้นได้ แต่ถ้ามีการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้อง ขาดความระมัดระวังก็อาจเกิดการบาดเจ็บและอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้เช่นกัน ดังนั้น การมีความรู้ ความเข้าใจ เจตคติ และการปฏิบัติที่ถูกต้องต่อการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นจากการเล่นกีฬาหรือออกกำลังกาย จะช่วยให้การบาดเจ็บหายเร็วขึ้นและสามารถกลับไปเล่นกีฬานั้นๆได้อีกด้วยความปลอดภัย

การป้องกัน และการดูแลอาการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา

                การบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกๆส่วนของร่างกาย การบาดเจ็บที่เกิดขึ้นนั้น มีตำแหน่งที่เกิดแตกต่างกัน แล้วแต่การใช้ส่วนหรืออวัยวะของร่างกายหนักไปในทางใด การบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา ทำให้เกิดการจำกัดการเคลื่อนไหวและโอกาสของนักกีฬา การบาดเจ็บแม้เพียงเล็กน้อยก็อาจทำให้นักกีฬาต้องงดการฝึกซ้อมหรือไม่สามารถเข้าร่วมการแข่งขันได้ยิ่งถ้าเป็นการบาดเจ็บที่รุนแรงด้วยแล้วอาจจะหมายถึงจุดจบแห่งอนาคตของการเล่นกีฬานั้นๆทีเดียว การบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาบางชนิด นักกีฬาหรือผู้ฝึกสอนสามารถรักษาพยาบาลเองได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีความรู้ทางการแพทย์มากนัก แต่การบาดเจ็บบางชนิดจำเป็นต้องให้แพทย์เป็นผู้บำบัดรักษาเท่านั้น
                การปฐมพยาบาลและการรักษาเป็นเรื่องสำคัญมาก โดยเฉพาะการปฐมพยาบาลที่ถูกวิธีจะช่วยทำให้การรักษาง่ายขึ้น ช่วยลดอันตรายและภาวะแทรกซ้อนลงได้
ลักษณะและชนิดของการบาดเจ็บจากการกีฬา
                การบาดเจ็บจากการกีฬาที่พบบ่อยแบ่งเป็นชนิดได้ดังต่อไปนี้
1.      บาดเจ็บที่ผิวหนังและชั้นไขมันใต้ผิวหนัง   โดยปกติผิวหนังจะประกอบขึ้นด้วย 3 ชั้นคือ ชั้นหนังกำพร้า ชั้นหนังแท้ และชั้นไขมันใต้ผิวหนัง  ผิวหนังทำหน้าที่ห่อหุ้มร่างกายเป็นด่านแรกที่ช่วยป้องกันอันตรายมิให้เกิดขึ้นกับอวัยวะภายใน ช่วยระบายความร้อน การบาดเจ็บที่เกิดกับผิวหนังมีดังนี้
1.1.   ผิวหนังถลอก (Abrasion) เป็นการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นบริเวณผิวหนัง ทำให้บางส่วนของผิวหนังหลุดออกไป บางครั้งอาจลึกถึงชั้นหนังแท้หรือชั้นไขมันใต้ผิวหนัง มีความเจ็บปวด เลือดจะไหลออกซึมๆ การหายเกิดขึ้นได้รวดเร็ว ถ้าไม่มีการติดเชื้อโรคแทรกซ้อน  สาเหตุ มักจะมาจากการเสียดสี เช่น ลื่นล้มผิวหนังไถลไปบนพื้น  การปฐมพยาบาลโดยถูสบู่และล้างออกด้วยน้ำสะอาด ทายาใส่แผลสด พยายามให้แผลแห้งไว้โดยไม่จำเป็นต้องปิดแผล หากไม่มีการติดเชื้อ แผลจะตกสะเก็ดและหลุดออกเองตามธรรมชาติ ภายใน 7 8 วัน

1.2.   ผิวหนังพอง (Blisters) เป็นการบาดเจ็บจากการแยกของชั้นผิวหนังด้วยกันเองออกไป โดยชั้นระหว่างที่ผิวหนังแยกออกจะมีน้ำเหลืองคั่งจากเซลล์ข้างเคียง  สาเหตุเกิดจากการเสียดสีซ้ำๆกัน มักจะเกิดที่มือหรือเท้า  การปฐมพยาบาลโดยทำความสะอาดด้วยน้ำสบู่  เช็ดด้วยแอลกอฮอล์ ใช้เข็มที่สะอาดปราศจากเชื้อโรคเจาะเอาน้ำออกโดยไม่จำเป็นต้องลอกหนังส่วนที่พองออก ทายารักษาแผลสดแล้วปิดพลาสเตอร์ หมั่นรักษาความสะอาดและให้บริเวณนั้นแห้งอยู่เสมอ หลีกเลี่ยงการเสียดสีซ้ำจนกว่าแผลจะหาย ซึ่งกินเวลาประมาณ 7 โ€“ 10 วัน
1.3.   ฟกช้ำ (Contusion) เกิดจากมีแรงกระแทกโดยตรง ซึ่งโดยมากมาจากวัตถุแข็ง ไม่มีคม ทำให้เกิดเลือดคั่งอยู่และไม่สามารถซึมออกสู่เนื้อเยื่อข้างเคียงได้ อาจมีอาการเจ็บปวด บวมร่วมด้วย   การปฐมพยาบาลโดยการประคบเย็นโดยทันทีพร้อมกับกดเบาๆตรงบริเวณฟกช้ำ ความเย็นจะทำให้หลอดเลือดหดตัว ทำให้เลือดหยุดและบรรเทาความเจ็บปวดได้ อาการฟกช้ำนี้จะหายเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับปริมาณของเลือดที่ออกในชั้นใต้ผิวหนัง  หลังจาก 24 โ€“ 48 ชั่วโมงไปแล้ว จึงใช้ความร้อนประคบจะช่วยให้ก้อนเลือดสลายตัวได้เร็วขึ้น
1.4.   ผิวหนังฉีกขาด (Laceration) เป็นการที่ผิวหนังถูกทำลายจนเห็นชั้นไขมันใต้ผิวหนัง บาดแผลคล้ายโดนของมีคมบาดหรือฉีกขาด อาจมีการฟกช้ำร่วมด้วยสาเหตุมักจะถูกของแข็งไม่มีคมกระแทกอย่างรุนแรง  การปฐมพยาบาลโดยการห้ามเลือดก่อน แล้วทำความสะอาดบาดแผล ปิดบาดแผลด้วยผ้าสะอาดแล้วนำส่งแพทย์ทันที
1.5.   แผลถูกแทง (Puncture Wound) ลักษณะของบาดแผลชนิดนี้ ปากแผลจะเล็กแต่ลึก อาจทำให้เกิดอันตรายต่ออวัยวะภายใน ทำให้มีการตกเลือด อาจมีการติดเชื้อร่วมด้วยโดยเฉพาะเชื้อบาดทะยัก สาเหตุเกิดจากถูกของแหลมทิ่มตำเช่น ตะปู เศษไม้ หนาม ฯลฯ การปฐมพยาบาลทำโดยการห้ามเลือด ทำความสะอาดบาดแผลและนำส่งแพทย์เพื่อการรักษาที่ถูกต้องต่อไป
1.6.   แผลบาด (Incision) ลักษณะของบาดแผล ขอบแผลเรียบยาว บริเวณข้างเคียงไม่ได้รับการกระทบกระเทือน แผลจะแยกออกจากกัน สาเหตุเกิดจากวัตถุมีคม  การปฐมพยาบาลโดยการห้ามเลือด ถ้าบาดแผลไม่ยาวมาก อาจใช้นิ้วมือที่สะอาดกดบาดแผลก็ได้ แล้วทำความสะอาด ทายาใส่แผลสด  แต่ถ้าบาดแผลลึกและยาว ต้องทำการห้ามเลือดและนำส่งแพทย์เพื่อการรักษาที่ถูกต้องต่อไป
1.7.   ผิวไหม้จากแสงแดด (Sunburn) เกิดจากการเล่นกีฬากลางแจ้ง ผิวหนังจะสัมผัสแสงแดดโดยตรง ความรุนแรงอาจแตกต่างกันตั้งแต่เกิดจุดแดงเล็กน้อยที่บริเวณผิวหนัง ไปจนกระทั่งเกิดเป็นตุ่มพองสร้างความเจ็บปวดและจะคงลักษณะนี้ได้หลายชั่วโมงหรือหลายวัน จนผิวชั้นนอกๆหลุดออกมา ตุ่มพองจะมีการตกสะเก็ดหรือบางรายอาจเกิดแผลเป็นก็ได้ การป้องกันทำได้โดยหลีกเลี่ยงการถูกแสงแดดในช่วงเวลา 10.00 โ€“ 14.00 น. สวมเสื้อผ้าที่ช่วยป้องกันแสงแดด หรือใช้ครีมกันแดด                   การปฐมพยาบาลโดยทายารักษาผิวไหม้จากความร้อน ถ้ามีอาการปวดควรรับประทานยาแก้ปวดหรือถ้าปวดมากๆควรรีบปรึกษาแพทย์
2.      การบาดเจ็บที่กล้ามเนื้อและเอ็นกล้ามเนื้อ  มีดังนี้
2.1.   ตะคริว (Cramp)  เกิดจากการเกร็งตัวชั่วคราวของกล้ามเนื้อ  ทำให้กล้ามเนื้อมัดนั้นแข็งเกร็งและมีอาการปวดจะเกิดขึ้นเป็นระยะเวลาไม่นานก็จะหายไปเอง แต่อาจเกิดเป็นซ้ำที่เดิมอีกก็ได้ ในบางครั้งกล้ามเนื้ออาจเป็นตะคริวพร้อมๆกันหลายๆมัดก็ได้ เกิดจากหลายสาเหตุเช่น ร่างกายขาดเกลือแร่ ฝึกซ้อมนานเกินไป สภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม รวมทั้งการใช้ผ้ายืดรัดบนกล้ามเนื้อค่อนข้างแน่นทำให้เลือดไหลเวียนไม่ดี  การป้องกันทำได้โดยพยายามหลีกเลี่ยงสาเหตุดังกล่าว การปฐมพยาบาลโดยการให้หยุดออกกำลังกายในทันที ให้ค่อยๆ เหยียดกล้ามเนื้อที่เป็นตะคริวอย่างช้าๆ นุ่มนวล ใช้ความร้อนประคบเพื่อกระตุ้นให้เลือดไหลเวียนไปยังบริเวณนั้นมากขึ้น
2.2.   กล้ามเนื้อบวม (Compartmental Syndrome)  เกิดจากการฝึกซ้อมหนักเกินไป ทำให้มีการคั่งของน้ำนอกเซลล์กล้ามเนื้อ ทำให้น้ำที่คั่งเกิดแรงดันเบียดมัดกล้ามเนื้อที่อยู่ข้างเคียง จะเกิดอาการบวมตึงที่กล้ามเนื้อ จะรู้สึกปวด ส่วนใหญ่จะพบที่กล้ามเนื้อน่อง  การปฐมพยาบาลโดยการหยุดฝึกซ้อมทันที แล้วใช้ความเย็นประคบเพื่อลดอาการปวด พันด้วยผ้ายืด และเวลาพักผ่อนให้ยกกล้ามเนื้อที่บวมอยู่สูงกว่าระดับหัวใจ
2.3.   กล้ามเนื้อฉีก (Strain)  มักพบที่กล้ามเนื้อต้นขาด้านหน้า ด้านหลัง และน่อง  แบ่งความรุนแรงออกเป็น 3 ระดับคือ
·         ระดับที่หนึ่ง  กล้ามเนื้อฉีกขาดเล็กน้อย    จะมีการบาดเจ็บเล็กน้อย อาจบวมหรือไม่บวมก็ได้ ปกติจะหายภายใน 3 วันโดยใช้ผ้ายืดพันยึดส่วนนั้นเอาไว้
·         ระดับที่สอง  กล้ามเนื้อฉีกปานกลาง    กล้ามเนื้อยังทำงานได้บ้าง จะมีอาการปวดบวม ต้องพันยึดด้วยผ้ายืดและใส่เฝือก โดยใช้เวลาประมาณ 3 สัปดาห์
·         ระดับที่สาม  กล้ามเนื้อฉีกขาดสมบูรณ์    กล้ามเนื้อไม่สามารถทำงานได้ บวมและปวดรุนแรง คลำดูจะพบรอยบุ๋มใต้ผิวหนัง จำเป็นต้องได้รับการรักษาโดยการผ่าตัดเพื่อเย็บต่อส่วนที่ขาด และใช้กายภาพบำบัดเข้าช่วย
สาเหตุของกล้ามเนื้อฉีก เกิดได้ 2 ทางคือ
1)      เกิดจากตัวกล้ามเนื้อเอง  เป็นการเพิ่มความตึงตัวต่อกล้ามเนื้อมากกว่าที่ตัวมันจะทนได้  ได้แก่ การอบอุ่นร่างกายไม่เพียงพอ ฝึกมากเกินไป กล้ามเนื้อยืดหยุ่นไม่ดี กล้ามเนื้อทำงานไม่สัมพันธ์กัน
2)      สาเหตุจากแรงกระทำภายนอก   ทำให้เกิดอันตรายได้ตั้งแต่ผิวหนัง ไขมันและเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังไปจนถึงกล้ามเนื้อ
การปฐมพยาบาลและบำบัดรักษากล้ามเนื้อฉีก แบ่งเป็น 2 ระยะคือ
1.      ระยะแรก  ภายใน 24 48 ชั่วโมง  ให้ใช้หลัก “RICE” ดังนี้
R  =  Rest  ให้พักโดยเฉพาะส่วนที่บาดเจ็บ
I   =  Ice   ใช้น้ำแข็งประคบส่วนที่บาดเจ็บ ครั้งละ 20 30 นาที วันละ 2 3 ครั้ง
C  =  Compression   พันกระชับส่วนนั้นด้วยม้วนผ้ายืด ควรใช้สำลีรองก่อน       หลักการพันคือพันจากส่วนปลายมาหาส่วนต้น (เวลานอนไม่ต้องพัน)
E  =  Elevation  ยกส่วนที่บาดเจ็บให้อยู่สูงกว่าระดับหัวใจ เพื่อช่วยให้เลือดไหลกลับหัวใจ เป็นการช่วยลดอาการปวดบวม
2.      ระยะที่สอง   นานเกิน 24 - 48 ชั่วโมง  ผู้บาดเจ็บเริ่มทุเลาแล้ว จะใช้ความร้อนและวิธีทางกายภาพบำบัด โดยใช้หลัก  “HEAT”  ดังนี้
H  =  Hot  ใช้ความร้อนประคบ  โดยเฉพาะความร้อนลึก(เป็นเครื่องมือทางกายภาพบำบัด) หรือใช้กระเป๋าน้ำร้อนก็ได้
E  =  Exercise  ลองขยับเขยื้อนส่วนที่บาดเจ็บดูเบาๆ เป็นการบริหารส่วนที่บาดเจ็บและทำการบีบนวดไปด้วย
A  =  Advanced Exercise  ระยะหลังๆ บริหารให้มากขึ้น อาจมีผู้ช่วยในการบริหารส่วนที่บาดเจ็บ หรือใช้อุปกรณ์ช่วยในการออกกำลังกาย
T  =  Training for Rehabilitation  เป็นการฝึกเพื่อช่วยฟื้นสภาพจากการบาดเจ็บให้กลับสู่สภาพปกติ ซึ่งจำเป็นต้องได้รับคำแนะนำจากแพทย์หรือนักกายภาพบำบัดโดยตรง
2.4.   กล้ามเนื้อระบม (Muscular Soreness) เกิดจากกำหนดการฝึก แบ่งเป็น 2 แบบคือ
ก.       การระบมแบบเฉียบพลัน (Acute Soreness)  ที่เกิดขึ้นระหว่างออกกำลังกายในทันทีทันใดภายหลังการออกกำลังกาย สาเหตุเกิดจากกล้ามเนื้อมีความตึงตัวสูง เลือดไหลไปเลี้ยงไม่พอ (Ischemia) ทำให้ไม่สามารถขจัดของเสียได้ทัน จะมีอาการเจ็บปวดในกล้ามเนื้อ
ข.      การระบมที่เกิดขึ้นภายหลัง (Delayed Soreness)  เป็นการระบมที่เกิดขึ้นหลังจากหยุดออกกำลังกายไปแล้ว  24 - 48 ชั่วโมง สาเหตุยังไม่ทราบแน่ชัด แต่เชื่อกันว่าน่าจะเกิดจากกล้ามเนื้อ เอ็น เกิดความเสียหายระหว่างที่ออกกำลังกาย
การป้องกันกล้ามเนื้อระบม  ทำได้โดยการอบอุ่นร่างกายให้เพียงพอ ปรับปรุงวิธีการออกกำลังกายโดยเริ่มต้นแต่น้อยแล้วค่อยเพิ่มขึ้นในภายหลัง
2.5.   การบาดเจ็บที่เอ็นกล้ามเนื้อ  (Tendon)  ประกอบด้วยเส้นใยคอลลาเจน ซึ่งเชื่อมระหว่างกล้ามเนื้อกับกระดูก  เอ็นจะมีเยื่อบางๆห่อหุ้มเรียกว่าเยื่อหุ้มเอ็น และมีปลอกหุ้มเอ็น หุ้มรอบนอกอีกชั้นหนึ่งการบาดเจ็บที่เอ็นกล้ามเนื้อ แบ่งออกเป็น 3 ลักษณะคือ
ก.       เยื่อหรือปลอกหุ้มเอ็นกล้ามเนื้ออักเสบ (Tenosynovitis)  เยื่อหุ้มเอ็นมีหน้าที่ให้อาหารและหล่อลื่นให้เอ็นกล้ามเนื้อเคลื่อนไหวได้อย่างสะดวกยิ่งขึ้น  การอักเสบมักพบบ่อยที่บริเวณข้อมือ ข้อเท้า เนื่องจากใช้งานมากเกินไป (0verused) จะมีอาการปวดบวม อาการจะหายไปเมื่อให้พักส่วนนั้น ร่วมกับการใส่เฝือกอ่อน (Splint) อาจให้ยาแก้อักเสบร่วมด้วย
ข.      เอ็นกล้ามเนื้ออักเสบ (Tendinitis) สาเหตุเกิดจากการใช้งานหนักเกินไปและทำอยู่เป็นประจำ หรือเกิดจากการใช้วัสดุ อุปกรณ์ที่ไม่เหมาะสม เช่น การวิ่งบนพื้นที่แข็ง ตลอดจนการเพิ่มความเร็วการฝึกอย่างกะทันหัน มักจะมีอาการบวม พองของเอ็นและแข็ง กดเจ็บ ตัวเอ็นสูญเสียความยืดหยุ่น รักษาได้โดยใช้วิธีการทางกายภาพบำบัด
ค.       เอ็นฉีกขาด (Rupture)  มักพบในคนสูงอายุ เกิดจากการเปลี่ยนทิศทาง ความเร็วในการเคลื่อนที่ทันทีทันใด การฉีกขาดอาจเกิดบางส่วนหรือทั้งมัดก็ได้ ในกรณีขาดบางส่วนจะรักษาโดยการให้พักการออกกำลังกายหนักๆ จนกว่าอาการจะลดลงเมื่ออาการปวดทุเลาลงแล้ว จะรักษาโดยวิธีการยืดเอ็น กล้ามเนื้อโดยทำช้าๆ นิ่มนวล หากอาการไม่ดีขึ้นควรปรึกษาแพทย์ หรือนักกายภาพบำบัด และในกรณีขาดทั้งมัดให้ปรึกษาแพทย์เพื่อทำการรักษาต่อไป
3.      การบาดเจ็บที่ข้อต่อและเอ็นยึดข้อ พบในนักกีฬาบ่อยที่สุดโดยเฉพาะในกีฬาที่มีการปะทะ มีดังนี้
3.1.   ข้อขัด (Locking)  เป็นอาการติดขัดในการเคลื่อนไหวของข้อต่อในช่วงใดช่วงหนึ่ง มีสาเหตุมาจากมีบางสิ่งบางอย่างขัดอยู่ในข้อ เช่น เศษกระดูกหรือกระดูกอ่อน การรักษาโดยการผ่าตัดเอาเศษกระดูกออกมา
3.2.   ข้อบวม (Swelling)  เกิดจากหลายสาเหตุดังนี้
ก.       การบวมนอกข้อต่อ  เกิดจาการอักเสบของถุงหล่อลื่น (Bursa) นอกข้อต่อ โดยทั่วไปมักไม่มีอันตรายมากนักนอกจากทำให้รำคาญ หรือในบางคนอาจมีอาการปวดร่วมด้วย การรักษาโดยวิธีทางกายภาพบำบัดหรือโดยการผ่าตัด
ข.      การบวมภายในข้อต่อ  เกิดจากการบวมภายในข้อต่อ บวมออกมานอกข้อต่อ การรักษาโดยการผ่าตัด
3.3.   ข้อติด (Stiffness)  ภายหลังการบาดเจ็บของข้อต่อ มักจะทำให้ข้อนั้นติดเพราะกล้ามเนื้อรอบๆ เกิดการตึงตัว เนื่องจากไม่ได้เคลื่อนไหวเป็นเวลานานๆ การรักษาโดยวิธีทางกายภาพบำบัด
3.4.   ข้อแพลง (Sprain)  เกิดจากการเคลื่อนไหวของข้อต่อเกินมุมปกติ ทำให้เกิดการฉีกขาดของเอ็นยึดข้อต่อ รวมถึงปลอกหุ้มข้อต่อฉีกขาดด้วย มักพบที่ข้อเท้า ข้อมือ ข้อนิ้วมือ แบ่งออกเป็น 3 ระดับคือ
ระดับที่ 1  แพลงเล็กน้อย (Mild Sprain)  เกิดจากเอ็นยึดข้อต่อฉีกขาดเล็กน้อย กดเจ็บแต่ไม่บวม ควรหยุดเล่น 1 สัปดาห์
ระดับที่ 2  แพลงปานกลาง (Moderate Sprain)  เกิดจากเอ็นฉีกขาดพอสมควร มีอาการกดเจ็บ บวม อาจมีเลือดคั่งต้องพันยึดด้วยผ้ายืด ควรหยุดเล่น 3 สัปดาห์
ระดับที่ 3  แพลงรุนแรง (Severe Sprain)  เกิดจากเอ็นฉีกขาดมาก อาจฉีกขาดถึงปลอกหุ้มข้อต่อ มีอาการกดเจ็บ บวมมาก มีเลือดออก เคลื่อนไหวอย่างปกติไม่ได้ การรักษา ต้องผ่าตัดต่อเอ็นและใส่เฝือก ต้องหยุดพักไม่ต่ำกว่า 6 สัปดาห์ และต้องทำกายภาพบำบัดต่อประมาณ 4 - 6 เดือน
การปฐมพยาบาลข้อแพลง ทำดังนี้
ก.       ให้ข้อต่อที่บาดเจ็บอยู่นิ่งๆ และหนุนให้สูง
ข.      ใช้ความเย็น หรือน้ำแข็งประคบ ครั้งละ 20 30 นาที วันละ 2 3 ครั้ง
ค.       ใช้ผ้ายืด (Elastic Bandage)  พันรอบข้อเพื่อจำกัดการเคลื่อนไหว ถ้ามีการบาดเจ็บรุนแรงให้นำส่งแพทย์เพื่อทำการรักษา
ง.       ยกข้อที่บาดเจ็บให้สูงกว่าระดับหัวใจ โดยเฉพาะเวลานอน
จ.       หลัง 24 - 48 ชั่วโมงไปแล้วให้ใช้ความร้อนประคบ
3.5.   ข้อหลุดหรือเคลื่อน (Dislocation)  เป็นลักษณะที่ข้อต่อกระดูกหลุดออกจากที่ที่มันอยู่ตามปกติ ทำให้เยื่อหุ้มข้อต่อฉีกขาด กล้ามเนื้อ หลอดเลือด เส้นประสาทบริเวณนั้นฉีกขาด ถ้าเป็นเล็กน้อยเรียกว่า Subluxation  ถ้าเป็นรุนแรงเรียกว่า Luxation  ข้อหลุดแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ
ก.       ข้อหลุดชนิดเฉียบพลัน (Acute Dislocation)  เป็นการหลุดครั้งแรกโดยที่ไม่เคยหลุดมาก่อน
ข.      ข้อหลุดชนิดเรื้อรัง (Chronic Dislocation)  เป็นการหลุดตั้งแต่ครั้งที่ 2 เป็นต้นไป เป็นเพราะเอ็นยึดข้อไม่แข็งแรง หรือยืด ต้องแก้ไขโดยการผ่าตัด 
สาเหตุของข้อหลุด เกิดจากแรงกระแทก หรือแรงดึงจากภายนอก หรืออาจเกิดจากพยาธิสภาพของข้อเอง จะมีอาการปวดบวม กดเจ็บ เคลื่อนไหวไม่ได้ รูปร่างของข้อต่อผิดไปจากเดิม  การปฐมพยาบาล ให้ข้อที่หลุดอยู่นิ่งๆ ประคบเย็น และนำส่งแพทย์เพื่อทำการรักษาต่อไป
4.      การบาดเจ็บที่กระดูก  กระดูกเป็นอวัยวะที่แข็งแกร่งของร่างกาย การเกิดกระดูกหักแสดงว่าแรงที่กระทำต้องมากหรือรุนแรงพอสมควร
กระดูกหัก (Fracture)  หมายถึง ส่วนประกอบของกระดูกแตกแยกออกจากกันแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทคือ
1.        กระดูกหักธรรมดา (Close or Simple Fracture)  เป็นการหักของกระดูกไม่มีแผล และไม่มีกระดูกโผล่ออกมาภายนอก
2.        กระดูกหักชนิดมีบาดแผล (Opened or Compound Fracture)  เป็นการหักของกระดูกและทิ่มแทงออกมานอกเนื้อ
สาเหตุของกระดูกหัก แบ่งเป็น 2 แบบคือ
1)       เกิดจากอุบัติภัย เช่น การเล่นกีฬา ตกจากที่สูง ถูกของหนักทับ
2)       เกิดจากพยาธิสภาพของกระดูกเอง เช่น โรคกระดูกพรุน โพรงกระดูกอักเสบ มะเร็งในกระดูก เป็นต้น
การปฐมพยาบาลกระดูกหัก มีหลักเกณฑ์ดังนี้
1)       ให้การปฐมพยาบาลอย่างรีบด่วน
2)       หากมีอาการเป็นลม หรือช็อก ต้องแก้ไขให้ฟื้นก่อน
3)       ถ้ามีการตกเลือด ต้องห้ามเลือดด้วยวิธีการที่เหมาะสม
4)       การจับหรือตรวจบริเวณที่หักต้องทำด้วยความระมัดระวัง
5)       ถ้าจำเป็นต้องถอดเสื้อผ้าออก ควรใช้วิธีตัดทิ้ง
6)       หากมีบาดแผลควรเช็ดล้างให้สะอาด แต่ห้ามล้างเข้าไปในแผล
7)       หากจำเป็นต้องเข้าเฝือก ต้องทำด้วยความระมัดระวังและรวดเร็ว
8)       การเคลื่อนย้ายผู้ป่วย ต้องกระทำให้ถูกหลักวิธีการ
9)       รีบนำส่งแพทย์
10)    การรักษากระดูกนั้น ต้องรักษาโดยแพทย์ผู้ชำนาญทางกระดูกเท่านั้น


การฟื้นฟูสมรรถภาพนักกีฬา
นักกีฬาที่ได้รับบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา หลังจากได้รับการรักษาในระยะเฉียบพลันแล้วมักจะมีปัญหาตามมาภายหลัง ได้แก่ อาการบวม ปวดข้อ ความคล่องแคล่วว่องไว ความแข็งแรง ความทนทานและสมรรถภาพด้านอื่นๆ ลดลง จึงจำเป็นต้องมีการฟื้นฟูสมรรถภาพของนักกีฬาเพื่อให้สามารถกลับไปเล่นกีฬาได้เหมือนเดิมและปลอดภัย
วิธีการฟื้นฟูสมรรถภาพนักกีฬา มีหลายวิธีเช่น การประคบร้อน การนวด การออกกำลังกาย
ประเภทของการออกกำลังกายเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพ
1.        การออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรง จะอาศัยน้ำหนักหรือแรงต้านเข้ามาเกี่ยวข้อง
2.        การออกกำลังกายเพื่อให้ข้อที่ติดมีการเคลื่อนไหวที่ดีขึ้น มักพบที่ไหล่ ศอก เข่าและนิ้วมือ ทำโดยการบริหารร่างกายในส่วนนั้นๆเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเคลื่อนไหวได้ดีขึ้น
3.        การออกกำลังกายเพื่อให้มีการทำงานประสานกันระหว่างประสาทและกล้ามเนื้อดีขึ้น เช่นในรายที่เอ็นฉีกขาด หรืออัมพาต ต้องฝึกโดยการให้ทำซ้ำๆในกิจกรรมหนึ่งเพื่อให้เกิดการประสานงานของระบบประสาทและกล้ามเนื้อ โดยเริ่มจากง่ายๆ ก่อน แล้วจึงเพิ่มความซับซ้อนขึ้นตามลำดับ
4.        การออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างความทนทาน เป็นการออกกำลังกายโดยใช้น้ำหนักน้อยๆ แต่เน้นจำนวนครั้งให้มาก
5.        การออกกำลังกายเพื่อการผ่อนคลาย  เป็นการออกกำลังกายในผู้ป่วยที่มีความเครียดสูง โดยให้ผู้ป่วยอยู่ในสถานที่ที่สงบ อยู่ในท่าที่สบาย หายใจเข้าออกช้าๆเป็นจังหวะ บริหารโดยการเหยียดข้อต่อต่างๆไปมาอย่างสบาย

เจตคติเกี่ยวกับการเล่นบาสเกตบอล

 เจตคติเกี่ยวกับการเล่นบาสเกตบอล

     การเล่นกีฬาบาสเกตบอล เป็นกีฬาประเภททีม ที่ต้องอาศัยความพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจ อย่างมาก อย่างไรก็ตาม ในการเล่นบาสเกตบอลให้ประสบความสำเร็จ ต้องทำด้วยความมานะ อดทนและความเข้าใจธรรมชาติของกีฬาเป็นอย่างดี การเล่นบาสเกตบอลมีความยากลำบากไม่ยิ่งหย่อนไปกว่านักกีฬาชนิดอื่นๆ นักกีฬาบาสเกตบอลจะอยู่ได้ดีกับการฝึกซ้อมและการแข่งขันอย่างหนักนั้น นักกีฬาต้องมีความเข้าใจธรรมชาติของการเป็นนักกีฬาเพื่อการแข่งขัน จึงจะประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย
      ในด้านจิตใจนั้นนักกีฬาควรมีเจตคติที่ดี และในทางบวกในการเล่นบาสเกตบอล เมื่อจิตเป็นนายและกายเป็นบ่าว การมีหรือได้รับการปลูกฝังให้มีความคิดและความรู้สึกที่ดีในการเล่นจะทำให้นักกีฬามีพฤติกรรมในการเล่นที่ดี ซึ่งจะเป็นกุญแจสำคัญของความสำเร็จต่อไปความรู้สึกที่ดีที่นักกีฬาบาสเกตบอลควรมีนั้นควรมีตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นในช่วงของการฝึกซ้อมและการแข่งขัน โดยเฉพาะในช่วงของการเล่นท่ามกลางความกดดัน เล่นขณะที่เวลาเหลือน้อยมาก เล่นเมื่อคะแนนมีความสูสีกันมาก เช่น มีเวลาเหลือ 5 วินาที ตามอยู่ 1 คะแนน นักกีฬาคิดหรือรู้สึกอย่างไร นักกีฬารับได้กับธรรมชาติของกีฬาบาสเกตบอลหรือเปล่า
      เจตคติเป็นตัวนำพฤติกรรมของนักกีฬา การมีเจตคติที่ดีส่งผลต่อการเล่นบาสเกตบอล เจตคติที่ไม่ดีจะส่งไม่ดีต่อการเล่นด้วยเช่นกัน อะไรคือเจตคติที่ดีและไม่ดีสำหรับการเล่นบาสเกตบอล 
      ตัวอย่างที่ดี เช่น การที่มองว่าแพ้ชนะเป็นส่วนหนึ่งของการแข่งขัน การฝึกซ้อมหนักและมีประสิทธิภาพเป็นหนทางของความสำเร็จ ชีวิตของนักกีฬาเพื่อการแข่งขันคือ การซ้อมหนัก โดยไม่กลัวการเจ็บหรืออันตราย และการแพ้ชนะคือส่วนหนึ่งของการเล่น หรือแพ้แล้วไม่จำเป็นต้องแพ้อีก นั่นหมายความว่าเราไม่ควรกลัวคู่แข่งขันจนเกินไป หรือชนะแล้วก็ไม่จำเป็นต้องชนะอีกเสมอ นั่นก็หมาความว่าอย่าประมาทในการเล่น ทีมของเราจะแพ้ก็ต่อเมื่อคะแนนของเราน้อยกว่าฝ่ายตรงข้ามเมื่อผู้ตัดสินเป่าหมดเวลา หรือทีมของเราจะแพ้เมื่อคะแนนทีมเราน้อยกว่าอีกทีมเมื่อผู้ตัดสินเป่าหมดเวลา ในประเด็นนี้หมายถึง อย่ายอมแพ้และให้สู้จนวินาทีสุดท้าย จึงจะถือว่ามีเจตคติที่ดีและเหมาะสม
      นักกีฬาบาสเกตเป็นอย่างนี้กันหรือเปล่า ผู้ฝึกสอนได้สร้างเจตคติแบบนี้ให้เกิดกับนักกีฬาหรือเปล่าในระหว่างการฝึกซ้อมและแข่งขัน
      สำหรับตัวอย่างที่ไม่ดีของเจตคติในการเล่นบาสเกตบอล เช่น ทีมนี้เคยชนะมาแล้ว ยังไงก็ชนะอีก ทีมนี้เคยแพ้แล้ว ต้องแพ้อีกแน่ หรือแข็งแรงพอ นอนดึกก่อนการแข่งขัน ไม่มีปัญหาอะไรกับการแข่งขันวันพรุ่งนี้
      เจตคติทั้งสองแบบนี้จะส่งผลต่อพฤติกรรมนักบาสเกตบอลที่แตกต่างกัน เจตคติที่ดี ที่เหมาะสม เป็นเหตุผลและในทางบวกจะนำไปสู่การเล่นบาสเกตบอลที่ดี นักกีฬาจึงควรมีเจตคติที่ดีในการเล่น หรือได้รับการปลูกฝังเจตคติที่ดีต่อการเล่นบาสเกตบอลจากโค้ช ผู้ปกครองและบุคคลรอบข้าง เจตคติที่เหมาะสมและในทางบวกนี้ จะทำให้นักกีฬาอยู่กับการเล่นบาสเกตบอลได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความสุข 
     การปลูกฝังหรือให้ความสำคัญกับผลแพ้-ชนะก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้นักกีฬาให้ความสำคัญกับแพ้-ชนะมากเกินไป ส่งผลให้เกิดความกดดันในหลายๆ โอกาสของการเล่นบาสเกตบอล ถ้านักกีฬาเห็นว่าผลสำเร็จของการเล่นคือ ชัยชนะเพียงอย่างเดียว ความรุนแรง การโกง ก็อาจเกิดได้มากขึ้น ซึ่งนั่นไม่ช่วยให้นักกีฬาพัฒนาตัวเองได้ดี การปลูกฝังเจตคติให้นักกีฬาให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ พัฒนาการ ที่เกิดจากการฝึกซ้อม มุ่งมั่นทุ่มเท จะส่งผลต่อการเล่นบาสเกตบอลที่ดีกว่าโดยตรง และการนำไปสู่การเป็นคนที่ดีด้วย

เวชศาสตร์การกีฬาสำหรับบาสเกตบอล

เวชศาสตร์การกีฬาสำหรับบาสเกตบอล

     บาสเกตบอล กีฬาที่มีความเร็ว มีการกระแทกกันอยู่ตลอดการเล่น จึงมีโอกาสการบาดเจ็บและเป็นอันตรายตลอดเวลา นักกีฬาจึงต้องมีความพร้อมของร่างกายและจิตใจอย่างมาก อย่างไรก็ตามการบาดเจ็บก็สามารถป้องกัน และทำให้กลับมาเล่นได้เร็วขึ้นหากเรารู้วิธีการป้องกันและการแก้ไขเมื่อมีการบาดเจ็บเกิดขึ้น
     การยืดกล้ามเนื้อที่ไม่เพียงพอและไม่เหมาะสม ก็เป็นสาเหตุของการบาดเจ็บได้ สิ่งนี้เป็นเรื่องของเวศาสตร์การกีฬา ที่นักกีฬาบาสเกตบอลควรมีความรู้และความเข้าใจเพื่อที่สามารถป้องกันและแก้ไขได้อย่างมีประสิทธิภาพก่อนเกิดหรือเมื่อเกิดขึ้น
     การบาดเจ็บและเป็นอันตรายในกีฬาบาสเกตบอลอาจเกิดได้จากหลายๆ สาเหตุ โดยทั่วไปการบาดเจ็บมักเกี่ยวข้องกับการฉีกขาดของกล้ามเนื้อ ข้อเท้าพลิกหรือแพลง กระดูกหัก และอื่นๆ การบาดเจ็บที่บริเวณศีรษะก็มีให้พบเห็นอยู่บ้าง การที่ร่างกายต้องทำงานหนักในการฝึกซ้อมและแข่งขันเกินกว่าที่ร่างกายมนุษย์ปกติทำ ก็ทำให้เกิดความเมื่อยล้าที่นำไปสู่การบาดเจ็บได้ง่ายขึ้น หลักการป้องกันการบาดเจ็บทางกีฬาจึงควรถูกนำไปใช้และเผยแพร่ให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องเพื่อการป้องกันการบาดเจ็บและเพื่อให้การแสดงความ สามารถของนักบาสเกตบอลบรรลุเป้าหมายได้อย่างดี
     นอกจากนี้เวชศาสตร์การกีฬาไม่ใช้แค่เรื่องของการบาดเจ็บ แต่เป็นเรื่องของการนำหลักการทางการแพทย์มาใช้ในการพัฒนาศักยภาพทางการกีฬา เช่น การป้องกันการบาดเจ็บทางการกีฬา การปฐมพยาบาล การดูแลหลังการบาดเจ็บ การฟื้นฟูสภาพ และการใช้สารกระตุ้นด้วย
     ท่านควรรู้ในหลักการเบื้องต้นของสาเหตุการเกิดการบาดเจ็บ ควรรู้เรื่องของการป้องกันที่ทำได้ เช่น การอบอุ่นร่างกายที่เพียงพอและเหมาะสม การยืดเหยียดกล้ามเนื้อที่ถูกต้อง การรู้จักการปฐมพยาบาล ให้กับนักกีฬานับว่าเป็นเรื่องสำคัญ มีนักกีฬาหลายคน
ประเด็นที่สำคัญที่ควรทราบเกี่ยวกับหลักการทางเวชศาสตร์การกีฬาในเบื้องต้น เช่น
  • การเตรียมความพร้อมของร่างกาย
  • ป้องกันการบาดเจ็บในการเล่นบาสเกตบอล
  • การปฐมพยาบาลในการเล่นบาสเกตบอล
  • การฟื้นฟูสภาพจากการเล่นบาสเกตบอล

ชีวกลศาสตร์การกีฬาสำหรับบาสเกตบอล

ชีวกลศาสตร์การกีฬาสำหรับบาสเกตบอล

     ในบรรดากีฬาที่อาศัยหลักการของแรง มุม และทิศทางแล้ว กีฬาบาสเกตบอลเป็นอีกชนิดกีฬาที่ใช้ประโยชน์จากหลักการทางชีวกลศาสตร์การกีฬาได้มาก จากการที่บาสเกตบอลเป็นกีฬาที่เราคุ้นเคยกันและเล่นกันทั่วโลก แม้จะมีข้อจำกัดในเรื่องของการหาสนามเล่น แต่เมื่อเทียบกับกีฬาอีกหลายชนิดก็ยังสามารถทำได้ง่ายกว่า และมีความยืดหยุ่นสูง การใช้ชีวกลศาสตร์การกีฬาในการเล่นบาสเกตบอลให้เต็มศักยภาพ ซึ่งเป็นสาขาย่อยของวิทยาศาสตร์การกีฬาที่เกี่ยวข้องกับการใช้หลักการ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการเล่นบาสเกตบอลที่เป็นรูปธรรมผ่านการวิเคราะห์ทางคณิตศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ ที่นักกีฬาควรมีความเข้าใจและนำไปพัฒนาการเล่นของตัวเอง นอกเหนือจากหลักของวิทยาศาสตร์การกีฬาสาขาอื่นๆ
     ความสัมพันธ์ระหว่างความสูงของลูกบาสเกตบอลที่ลอยในอากาศก่อนการลงในห่วง การส่งลูกในระยะที่แตกต่างกัน การกระโดดของนักกีฬาในการป้องกันการยิงประตูหรือเพื่อยิงประตู รวมทั้งการเลี่ยงลูกของนักกีฬาที่มีความสูงที่แตกต่างกัน ล้วนพัฒนาให้ดีขึ้นจากหลักการทางชีวกลศาสตร์ได้ทั้งนั้น
     ถ้าต้องการให้การเล่นบาสเกตบอลเพื่อความเป็นเลิศ มีประสิทธิภาพมากๆ และจริงจัง การบันทึกภาพการเคลื่อนไหวของนักกีฬา ลูกบาสเกตบอล แล้วนำมาศึกษาวิเคราะห์ทางชีว กลศาสตร์ในแง่ของการเคลื่อนไหว แรง มุมและความเร็วได้เหมาะสม การเปลี่ยนแปลงทักษะบางอย่างของการเล่นบาสเกตบอล สามารถช่วยได้ โดยผู้เชี่ยวชาญทางด้านนี้ อย่างไรก็ตามการวิเคราะห์ด้วยหลักการนี้จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ ที่มีประสิทธิภาพและราคาค่อนข้างแพง มีเพียงไม่กี่แห่งที่มีอุปกรณ์ด้านนี้ครบสมบูรณ์ เช่น ที่สำนักวิทยาศาสตร์การกีฬา และฝ่ายวิทยาศาสตร์การกีฬา การกีฬาแห่งประเทศไทย การนำมาใช้กับการเล่นบาสเกตบอลจึงอาจจะยังไม่เห็นบ่อยนักสำหรับนักบาสเกตบอลไทย
สำหรับประเด็นหลักๆ ของงานทางด้านชีวกลศาสตร์กับการพัฒนาความสามารถนักบาสเกตบอลเกี่ยวข้องกับเรื่องของ
  • มุมของการยิงห่วงบาสเกตบอล ขณะกระโดด หรือบนพื้นสนาม
  • ท่าทางการเตะลูกบาสเกตบอล ในความสูงที่ต่างกัน
  • การเคลื่อนไหวร่างกาย ในส่วนของการหมุนตัว การส่งลูก

จิตวิทยาการกีฬาสำหรับบาสเกตบอล

จิตวิทยาการกีฬาสำหรับบาสเกตบอล

     นอกจากร่างกายและทักษะที่ดีในการเล่นบาสเกตบอลแล้ว จิตใจระหว่างการเล่นก็เป็นเรื่องสำคัญที่ส่งผลต่อความเป็นเลิศในการเล่น เราได้ฝึกร่างกายและวิธีการเล่นบาสเกตบอลอย่างหนักหน่วง เต็มที่ แล้วเราฝึกหรือเตรียมความพร้อมทางจิตใจหรือไม่
     ในการเตรียมความพร้อมทางจิตใจในการเล่นบาสเกตบอลนั้น มีคนเกี่ยวข้องหลายคน เช่น ผู้ฝึกสอนบาสเกตบอล ผู้ปกครอง เพื่อนๆ คนจัดการแข่งขัน และผู้ตัดสิน เป็นต้น คนเหล่านี้มีอิทธิพลต่อการเล่นที่หลากหลายระดับและแนวทาง บุคคลเหล่านี้ส่งผลต่อการเล่นของนักกีฬา ต่อพฤติกรรมของนักกีฬา ผ่านความคิดของนักกีฬาก่อนที่จะส่งต่อไปยังการเล่นต่อไป การที่จะทำให้นักกีฬามีความพร้อมทางจิตใจให้เหมาะสม เราจึงควรเข้าใจองค์ประกอบนี้ด้วย  และไม่สามารถปล่อยผ่านไปได้ง่าย และนักกีฬาควรเข้าใจ สนใจและหาแนวทางในการเพิ่มเติมศักยภาพดังกล่าว
     อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะไปในประเด็นของแต่ละบุคคลที่เกี่ยวข้อง ขอทำความเข้าใจให้ตรงกันก่อนถึงองค์ประกอบทางด้านจิตใจในการเล่นบาสเกตบอลนั้น มีประเด็นหลักๆ ที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพนักกีฬา ดังนี้
  • เจตคติเกี่ยวกับการเล่นบาสเกตบอล
  • ความมั่นใจในการเล่นบาสเกตบอล
  • แรงจูงใจในการเล่นบาสเกตบอล
  • สมาธิในการเล่นบาสเกตบอล
  • ความมุ่งมั่นในการเล่นบาสเกตบอล
  • ความตั้งในในการเล่นบาสเกตบอล
  • ความเครียดและความวิตกกังวลในการบาสเกตบอล
     ประเด็นเหล่านี้ ส่วนใหญ่มีมากยิ่งมีผลดีต่อการเล่น แต่ในบางประเด็น เช่น ความเครียดและความวิตกกังวล ความกลัวการแข่งขัน เป็นส่วนที่มีน้อยหรือในระดับที่เหมาะสมจะดีกว่า เราจึงควรเข้าใจสิ่งเหล่านี้อย่างแท้จริง ซึ่งก็จะแยกเป็นประเด็นให้ทราบ ตามแต่สนใจต่อๆไป



โภชนาการศาสตร์สำหรับนักบาสเกตบอล

โภชนศาสตร์สำหรับนักบาสเกตบอล

     แม้ว่าบาสเกตบอลมีพื้นที่การเล่นที่ไม่มากนักเมื่อเทียบกับจำนวนนักกีฬาในทีม และกีฬาหลายๆประเภท แต่เมื่อพิจารณาธรรมชาติการเล่นแล้ว กีฬาบาสเกตบอลเป็นกีฬาที่ไม่ใช่แค่มีร่างกายที่สูงเท่านั้น สมรรถภาพทางกายจากการมีหลักการโภชนาการที่ดีก็เป็นส่วนสำคัญ อาหารสำหรับนักกีฬาบาสเกตบอลเพื่อความพร้อมทางร่างกายยิ่งมีความสำคัญ  เพราะการเป็นนักกีฬาบาสเกตบอลที่เก่งนั้นต้องทำการเล่นที่มีการขึ้นลงสนามอย่างรวดเร็ว มีการวิ่ง กระโดด อย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง เป็นการฝึกซ้อมอย่างหนักและนาน การกินอาหารให้เหมาะสมเพียงพอเท่านั้นจะทำให้เกิดสมรรถภาพที่สมบูรณ์ มีความแข็งแรงของร่างกายและความชำนาญด้านทักษะเพิ่มขึ้น
     “อาหาร” หมายความถึง สิ่งที่รับประทานเข้าไปทำให้รู้สึกอิ่มซึ่งอาจจะให้ประโยชน์หรือโทษแก่ร่างกายก็ได้ และคำว่า“โภชนาการ” หมายความถึง อาหารที่รับประทานเข้าไปแล้วร่างกายสามารถนำไปเผาผลาญ เพื่อใช้ประโยชน์ในการเสริมสร้างความเจริญเติบโตและซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ ทำให้ร่างกายแข็งแรงและสร้างภูมิต้านทานโรคได้ ดังนั้นอาหารและโภชนาการจึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญที่ขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ การรับประทานอาหารจำเป็นต้องคำนึงถึงคุณประโยชน์ของอาหารที่รับประทานเข้าไปทั้งนี้เพื่อการมีร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรง ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ นักบาสเกตบอลทุกคนจึงจำเป็นต้องเรียนรู้ว่าอาหารอะไรที่ควรรับประทาน และควรรับประทานอะไรมากน้อยเพียงใดในการเล่นบาสเกตบอลและการใช้ชีวิตประจำวันของแต่ละคน 
     โภชนศาสตร์การกีฬา เป็นการศึกษาเรื่องของอาหาร ที่เกี่ยวข้องกับชีวเคมีและสรีรวิทยาของมนุษย์เพื่อให้เกิดความเข้าใจบทบาทของอาหารที่มีต่อสมรรถภาพร่างกายและสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาขีดความสามารถของนักบาสเกตบอลให้มีประสิทธิภาพสูงสุด
     ในปัจจุบันโภชนาการถือว่าเป็นสิ่งที่มีความจำเป็น และมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิต และการเล่นกีฬา เพราะร่างกายต้องการสารอาหารนับร้อยชนิดไปใช้ในการสร้างความเจริญเติบโตให้กับร่างกายและยังเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ช่วยในการพัฒนาการของอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย อาหารจึงเป็นหัวใจหลักของการมีสุขภาพที่ดีของมนุษย์ทุกคน การเลือกรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่และถูกสุขลักษณะตามหลักโภชนาการย่อมเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการพัฒนาสุขภาพและสมรรถภาพของคนทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในนักบาสเกตบอล ผู้ที่ต้องใช้พลังงาน พละกำลัง และสมรรถภาพทางกายอย่างหนักทั้งในการฝึกซ้อมและการแข่งขันกีฬา นักบาสเกตบอลที่บริโภคอาหารอย่างเหมาะสมตามหลักโภชนาการจะทำให้มีสภาพร่างกายและพลังงานที่สมบูรณ์เพียงพอสำหรับการฝึกซ้อม และพร้อมสำหรับการแข่งขันกีฬา ดังนั้นนักบาสเกตบอล จึงควรให้ความสนใจเรื่องอาหารที่เริ่มตั้งแต่การฝึกซ้อม ระหว่างการแข่งขัน และหลังการแข่งขัน

สรีรวิทยากับกีฬาบาสเกตบอล

สรีรวิทยาสำหรับบาสเกตบอล
     ในการเล่นบาสเกตบอลให้ประสบความสำเร็จ นักกีฬาต้องมีการเตรียมความพร้อมจากหลักการของวิทยาศาสตร์การกีฬาในทุกด้าน สำหรับด้านร่างกาย นักวิชาการอธิบายว่านักบาสเกตบอลที่เล่นแบบรุกต้องการพลังงานแบบแอโรบิคในระดับปานกลางถึงมากที่สุด และผู้เล่นที่เล่นแบบรับใช้พลังงานแบบแอโรบิคในระดับต่ำถึงปานกลางสำหรับการรีบาวนด์ อย่างไรก็ตามมีการเล่นบาสเกตบอลประกอบด้วยการระเบิดพลังในช่วงสั้น ๆ เช่น การกระโดดยิง การกระโดดแย่งบอล การวิ่งระยะสั้น ๆ การรับ-ส่ง และยิงประตูหรือเรียกได้ว่าใช้พลังงานในระบบแอนแอโรบิคด้วยในเวลาเดียวกัน
     การศึกษาระบุว่าในระหว่างการเล่นบาสเกตบอลมีอัตราการเต้นของหัวใจสูงขึ้นในขณะที่อัตราการใช้ออกซิเจนต่ำลงเพราะการใช้พลังงานแบบแอนแอโรบิคเป็นการใช้พลังในระยะสั้น ๆ ที่ต้องการการพักและระบบออกซิเจนก็เข้ามาแทนที่เพื่อช่วยในการสร้างพลังงานในการเล่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
     บาสเกตบอลเป็นกีฬาที่ต้องการการเคลื่อนไหวที่รวดเร็วทั้งการหยุด การกลับตัว การกระโดดและการเคลื่อนที่ ความเฉพาะในการเปลี่ยนตัวเข้า-ออกได้ตลอดเกมทั้งการแข่งขัน นักกีฬาที่ถูกเปลี่ยนตัวออกจะนั่งพักเพื่อรอการเล่นรอบต่อไปซึ่งความเหนื่อยล้าจากการเล่นทำให้ร่างกายมีกรดแล็กติก ซึ่งเป็นสารที่ทำให้เมื่อยล้า (Fatigue) หากมีสะสมมากเกินไปจะทำให้เกิดการคั่งของกรดแล็กติกในกล้ามเนื้อมากขึ้นเพราะปริมาณของออกซิเจนไม่เพียงพอแก่ความต้องการหรือเกิดภาวะเป็นหนี้ออกซิเจน (Oxygen Deficit)
     การออกกำลังกายเช่นนี้มักดำเนินต่อไปได้ไม่เกิน 2 -3 นาที เพราะกล้ามเนื้อไม่สามารถทำหน้าที่ของมันต่อไปได้ส่งผลให้การเคลื่อนไหวของร่างกายมีประสิทธิภาพลดลงซึ่งนักกีฬาที่มีสมรรถนะของร่างกายที่ไม่ดีก็จะทำให้เหนื่อยง่าย ไม่สามารถพักฟื้นสภาพได้อย่างรวดเร็วและมีผลต่อความแม่นยำในการรับ ส่งและยิงบอลด้วย 
     สมรรถภาพที่สำคัญในการเล่นบาสเกตบอลแยกเป็น 2 ส่วน คือ การฝึกร่างกายขั้นพื้นฐาน ประกอบด้วย การฝึกที่เน้นการใช้พลังงานแบบแอนแอโรบิค ความยืดหยุ่น ความแข็งแรง ความทนทาน ความเร็ว และพลัง ส่วนที่สองเป็นการฝึกร่างกายเฉพาะส่วน เช่น ความเร็วในการก้าวเท้า ความเร็วในการใช้มือ ความสามารถในการสปริงตัว ความคล่องตัวในการหลบหลีก การวิ่งกระโดด และการทรงตัวเป็นต้น ซึ่งองค์ประกอบแต่ละตัวจะมีส่วนช่วยในการพัฒนานักกีฬาให้มีความสามารถทางกายที่ดีขึ้นโดยเฉพาะการเล่นบาสเกตบอลในปัจจุบันมีความหนักในการเล่นระหว่างเกมที่สูงมาก (การใช้ออกซิเจนมากกว่า 70% และใช้พลังงานมากกว่า 4,000 กิโลแคลลอรี่ในระหว่างการแข่งขัน)
     ในเกมการเล่นประกอบด้วย การกระโดดมากกว่า 50 ครั้ง วิ่งประมาณ 1,500 – 2,000 เมตร จึงต้องมีการฝึกจึงต้องเน้นพัฒนากล้ามเนื้อ ระบบไหลเวียนโลหิต และความสามารถทางกายดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น อย่างไรก็ตามเพื่อการเสริมสร้างสมรรถภาพทางกายเป็นการปรับสภาวะของทางร่างกายให้อวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายมีประสิทธิภาพในการทำหน้าที่สูง และมีการทำงานประสานกันของระบบต่างๆ  ของร่างกายได้เป็นอย่างดี มนุษย์ทุกคนคนย่อมมีสมรรถภาพทางกาย ในแต่ละด้านมากน้อยต่างกัน เราจะทราบว่าเรามีสมรรถภาพในด้านใด มากหรือน้อยได้โดยการทดสอบ สมรรถภาพทางกายด้วยแบบทดสอบ มาตรฐาน การฝึกเพื่อเสริมสร้างสมรรถภาพทางกายจะต้องฝึกความอดทนและความแข็งแรงควบคู่กันไป ส่วนการที่จะฝึกเน้นด้านใด มากน้อยเพียงใดนั้นขึ้นอยู่กับความต้องการสมรรถภาพทางกายด้านใดเป็นสำคัญของแต่ละบุคคล
    

วิทยาศาสตร์การกีฬา

วิทยาศาสตร์การกีฬา คือ กระบวนการในการพัฒนาศักยภาพและความสามารถของนักกีฬาให้ก้าวไปสู่ความพร้อมและความสมบูรณ์สูงสุด ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจและเทคนิคทักษะกีฬาในช่วงการแข่งขันตลอดจนพัฒนาไปสู่ความสามารถสูงสุดแต่ละบุคคลอย่างเป็นระบบ ซึ่งประกอบด้วยองค์รวมของศาสตร์สาขาต่างๆ ดังต่อไปนี้   
1. กายวิภาคศาสตร์
กายวิภาคศาสตร์คือ ศาสตร์ที่ให้ความรู้รายละเอียดเกี่ยวกับโครงสร้างของร่างกาย ที่ประกอบขึ้นเป็นรูปร่างสัดส่วนของร่างกายนักกีฬาแต่ละคน ได้แก่ กระดูก กล้ามเนื้อ เอ็น ข้อต่อ หัวใจ ปอด หลอดเลือด เม็ดเลือดแดง เซลล์ประสาท เป็นต้น
2. สรีรวิทยา
สรีรวิทยา คือ ศาสตร์ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับการทำงานหรือการทำหน้าที่ของอวัยวะระบบต่างๆของร่างกายซึ่งสามารถกระตุ้นและพัฒนาศักยภาพให้ดีขึ้น ได้ด้วยระบบการฝึกที่ถูกต้องเหมาะสมกับประเภทกีฬาและนักกีฬาแต่ละบุคคล เช่น ความสามารถในการทำงานของระบบประสาทและกล้ามเนื้อ ความอดทนของระบบหายใจและไหลเวียนเลือดและระบบพลังงานที่ใช้ในการแข่งขัน แต่ละประเภทกีฬา เป็นต้น รวมทั้งสาเหตุที่นำไปสู่การเสื่อมสภาพของระบบการทำงานของอวัยวะต่างๆภายในร่างกาย
3. ชีวกลศาสตร์
ชีวกลศาสตร์ คือ ศาสตร์ที่ว่าด้วยการทำงานของกล้ามเนื้อ กระดูก เอ็น และข้อต่อ เพื่อนำไปสู่การใช้แรง ในการเคลื่อนไหวหรือปฏิบัติทักษะ อย่างไรให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ในแต่ละชนิดหรือประเภทกีฬา ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาหรือปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องทางด้านเทคนิคทักษะกีฬาแต่ละบุคคลได้อย่างกลมกลืนกับระดับความสามารถที่เป็นจริงของนักกีฬาผู้นั้นมิใช้ต้องทำตามหรือเลียนแบบแช้มป์ โดยที่มิได้เรียนรู้สภาพพื้นฐาน การฝึกซ้อมและความแตกต่างของร่างกายในแต่ละบุคคล
4. ทักษะและการฝึกซ้อมกีฬา
ทักษะและการฝึกซ้อมกีฬา คือ ศาสตร์ที่ให้ความรู้หลักการในการในการกำหนดความหนักเบา รูปแบบวิธีการฝึก เข้าไว้ในโปรแกรมการฝึกซ้อมได้อย่างถูกต้องเหมาะสมกับนักกีฬาแต่ละบุคคล โดยจะต้องพิจารณาและคำนึงถึงอายุ เพศ วัย ประสบการณ์ ความแตกต่างระหว่างบุคคล รวมทั้งระบบพลังงานสมรรถภาพทางกาย เฉพาะประเภทกีฬา ความสามารถในการเรียนรู้รับรู้ของนักกีฬาแต่ละบุคคล เพื่อนำไปสู่การวางแผนการฝึกซ้อมในแต่ละช่วงเวลาได้อย่างถูกต้องเหมาะสมกับนักกีฬาแต่ละบุคคล
5. โภชนาการทางการกีฬา
โภชนาการทางกีฬา คือ ศาสตร์ที่ให้ความรู้รายละเอียดเกี่ยวกับคุณค่าของอาหารแต่ละชนิด และรู้จักเลือกรับประทานอาหารให้ถูกต้อง ได้สัดส่วนทั้งในด้านปริมาตร และคุณภาพในแต่ละช่วงของการฝึกซ้อมและแข่งขันซึ่งจะมีผลต่อการใช้พลังงานในการเคลื่อนไหวการเก็บสำรองพลังงานไว้ในกล้ามเนื้อ การชดเชยพลังงานในระหว่างการฝึกซ้อมและแข่งขันและภายหลังการฝึกซ้อมแข่งขันซึ่งจะช่วยเสริมโครงร่างและความสามารถของร่างกายให้คงสภาพแข่งแกร่งยิ่งขึ้น
6. จิตวิทยาการกีฬา
จิตวิทยาการกีฬา คือ ศาสตร์ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการคิดการควบคุมทักษะการเคลื่อนไหวและทักษะกีฬารวมถึงการตัดสินใจในแต่ละสถาณการณ์ ของการฝึกซ้อมและแข่งขันได้อย่างถูกต้องเป็นผลดีต่อเกมส์การแข่งขันและการแสดงออกซึ่งทักษะและความสามารถของนักกีฬาได้อย่างสอดคล้อง สัมพันธ์กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
7. เวชศาสตร์การกีฬา
เวชศาสตร์การกีฬา คือ ศาสตร์ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกัน บำบัดรักษา และฟื้นฟู สภาพร่างกายให้กับนักกีฬาทั้งในสภาวะปกติและในระหว่างการฝึกซ้อมเพื่อช่วยเสริมให้สมรรถภาพทางกายอยู่ในสภาวะที่สมบูรณ์และพร้อมที่จะใช้งานได้ดีที่สุด
8. เทคโนโลยีทางการกีฬา
เทคโนโลยีทางการกีฬา คือ ศาสตร์ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับประดิษฐ์การใช้เครื่งมือและอุปกรณ์ช่วยสนับสนุนในการพัฒนาส่งเสริมตลอดจนการแก้ไขปัญหา ข้อบกพร่องให้กับนักกีฬาเพื่อเพิ่ม
ศักยภาพและประสิทธิภาพให้กับผู้ฝึกสอนกีฬาและนักกีฬารวมทั้งการวิเคราะห์ข้อมูลการเคลื่อนไหวทางด้านเทคนิกทักษะ การประเมินผลและรายงานผลการแข่งขันที่เป็นประโยชน์ถูกต้องรวดเร็วให้กับผู้ฝึกสอนกีฬา นักกีฬา และผู้ชม

วันจันทร์ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

อุบัติเหตุจากการได้รับสารพิษ และการป้องกัน

อุบัติเหตุจากการได้รับสารพิษ และการป้องกัน
     สารพิษ หมายถึงสารเคมีที่เข้าสู่ร่างกาย หรือสัมผัสส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย แม้เพียงจำนวนเล็กน้อย ก็ทำให้เกิดอันตราย ต่ออวัยวะต่างๆ ของร่างกาย เป็นผลให้เกิดความเสียหาย หรือถึงแก่ความตายได้
     สารมีพิษที่บุคคลในบ้าน อาจได้รับอันตราย ได้แก่ ยาฆ่าแมลง ยารักษาโรคทุกชนิด ยาปราบศัตรูพืช น้ำด่าง น้ำกรด สารที่ใช้ทำความสะอาดต่างๆ แอลกอฮอล์ สีทาบ้าน น้ำมันเบนซิน เชื้อเพลิงเหลวทุกชนิด รวมทั้งอาหาร และพืชพันที่ปนเปื้อนด้วยสารมีพิษ
     การเข้าสู่ร่างกายของสารมีพิษ

      สารมีพิษเข้าสู่ร่างกายได้ 3 ทาง ดังนี้
1.      ทางปาก ได้แก่ การกินเข้าไป
2.      ทางจมูก ได้แก่ การหายใจเอาสารที่ระเหยได้อุณหภูมิปกติ หรือการหายใจเอาฝุ่นละอองของโลหะต่างๆ
3.      ทางผิวหนัง ได้แก่ การสัมผัสสารมีพิษทางผิวหนัง หรือการฉีดสารมีพิษเข้ากล้ามหรือเส้นเลือด เช่น ยาเสพติด
    สาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุจากสารมีพิษ  อุบัติเหตุจากสารพิษอาจเกิดขึ้นได้จากสาเหตุต่างๆ ดังนี้

     1. ความประมาณ ความประมาทเลินเล่อ ทำให้เกิดการหยิบของผิด เช่น หยิบยาผิด
     2. ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ อุบัติเหตุอาจเกิดจากความไม่รู้ หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์
     3. การจัดสารเคมีหรือสารมีพิษต่างๆ โดยขาดความเป็นระเบียบ รอบคอบ เช่น การเก็บรวมกับของกิน หรือเก็บไว้ใกล้มือเด็ก ไม่มีฉลากปิดชื่อและวิธีการใช้สารเคมีนั้นๆ ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
วิธีป้องกันอันตรายจากสารพิษ  การป้องกันอันตรายจากสารมีพิษนั้น ควรปฏิบัติดังนี้

     1. ก่อนใช้ยาและสารเคมี ควรอ่านฉลาก และวิธีการใช้ให้เข้าใจอย่างถูกต้องแล้วปฏิบัติตาม อย่างเคร่งครัด
     2. ไม่ควรหยิบยาหรือสารเคมีมาใช้ ขณะที่เมาสุรา
ศึกษาหาความรู้ เกี่ยวกับอันตรายและวิธีป้องกันอุบัติเหตุเกี่ยวกับสารมีพิษ

     3. เก็บสารมีพิษไว้ในตู้อย่างมิดชิด พ้นมือเด็ก และปิดฉลากชื่อและวิธีการใช้สารมีพิษเหล่านั้นด้วย
     4. การใช้ยากันยุง ถ้าจำเป็นควรใช้การระบายอากาศดี หรือใช้ขณะที่ไม่มีคนอยู่ในห้อง
     วิธีปฏิบัติเมื่อถูกสารมีพิษ
1.      เมื่อสารมีพิษเข้าทางปาก
1.1   ควรทำให้อาเจียน โดยให้น้ำอุ่นมากๆ หรือล้วงคอ แต่ถ้ากินกรดหรือด่างห้ามให้อาเจียน ถ้าทราบว่ากินกรดเข้าไปให้กินน้ำสบู่อ่อนๆ แต่ถ้าทราบว่ากินด่างเข้าไปให้กินน้ำส้มคั้นหรือน้ำส้มสายชูอ่อนๆ แล้วรีบส่งแพทย์
1.2   รีบให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาล
1.3   ถ้าผู้ป่วยหมดสติให้ช่วยเป่าลมเข้าทางปากหรือจมูก แล้วนำส่งโรงพยาบาลถ้าผู้ป่วยรู้สึกตัว ให้รีบทำให้อาเจียน
2.      เมื่อสารมีพิษเข้าทางจมูก
2.1   ควรนำผู้ป่วยออกจากบริเวณที่มีสารพิษ
2.2   ช่วยให้ผู้ป่วยหายใจสะดวก และเป่าลมเข้าทางปากหรือจมูก
2.3   ให้ยาดมฉุนๆ เพื่อช่วยกระตุ้นการหายใจ
3.      เมื่อสารมีพิษเข้าทางผิวหนัง
3.1   ควรรีบล้างน้ำสะอาดให้มากๆ
3.2   หากถูกกรดต้องล้างด้วยน้ำสะอาดมากๆ แล้วล้างด้วยสารละลายอิ่มตัวของโซเดียมไบคาร์บอเนต
3.3   หากถูกด่างต้องล้างด้วยน้ำสะอาดมากๆ แล้วล้างด้วยสารลายกรดน้ำส้ม
3.4   หากกรดหรือด่างเข้าตา ต้องรีบล้างด้วยนำสะอาดและลืมตาในน้ำสะอาดนานๆ แล้วรีบส่งแพทย์
2.2 อุบัติเหตุจากไฟไหม้ น้ำร้อนลวก และการป้องกัน
     การตายจากไฟไหม้ น้ำร้อนลวก มีประมาณ 1 ใน 5 ของอุบัติเหตุที่เกิดภายในครัวเรือน ซึ่งเกิดขึ้นได้กับทุกคนในครอบครัว โดยเฉพาะเด็กและผู้สูงอายุ มีผลให้บุคคลได้รับบาดเจ็บ เป็นแผลพุพอง ปวดแสบปวดร้อน ร่างกายทุกข์ทรมาน อันตรายถึงกับเสียชีวิต และสูญเสียทรัพย์สินด้วย โดยอันตรายที่เกิดขึ้นแท้จริง มิได้เกิดจากเปลวไฟ แต่เกิดจาก ควันไฟประมาณกันว่าร้อยละ 80 ของคนที่ติดอยู่ในกองเพลิงเสียชีวิต จากการสำลักควันไฟก่อน จะถูกเปลวไฟเผาไหม้ตามร่างกาย   
     สาเหตุที่ทำให้เกิดไฟไหม้ น้ำร้อนลวก การเกิดไฟไหม้ น้ำร้อนลวกมีสาเหตุดังนี้

     1. ความประมาทเลินเล่อ มักเกิดจากการทิ้งก้นบุหรี่ที่ยังดับไม่สนิท ลงในตะกร้าทิ้งเศษกระดาษ การใช้ไม้ขีดไฟแล้วปิดกลักไม่สนิท การจุดธูปเทียนไหว้พระแล้วปล่อยทิ้งไว้ การใช้วัตถุไวไฟ เช่น ทินเนอร์ เบนซิน นำยาซักแห้ง ใกล้ไฟ
     2. การขาดความรู้ และไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำ ในการใช้อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ  รวมทั้ง การใช้กระแสไฟฟ้ามากเกินไป การใช้ไฟหลายทางพร้อมๆ กันจากสายไฟเส้นเดียว หรือใช้เต้าเสียบเดียว กับปลั๊กเสียบหลายตัว ซึ่งอาจทำให้กระแสไฟฟ้า ที่ไหลผ่านเกินกำลัง ไฟฟ้าช็อต หรือไฟฟ้าลัดวงจรได้
     3. ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์  การที่เด็กดึงผ้าปูโต๊ะที่วางกระติกน้ำร้อน ทำให้กระติกน้ำร้อนหล่อนลงมา และน้ำร้อนลวกได้ การที่เด็กใช้วัสดุหรือนิ้วมือแหย่ปลั๊กไฟ การที่เด็กเอามือไปแตะที่กาน้ำร้อน หรือของร้อน ที่วางไว้ใกล้มือ การเล่นไม้ขีดไฟ ไฟแช็ก ในเด็กๆ การใช้เบนซินหรือน้ำมันก๊าดสำหรับก่อไฟ ในการหุงต้ม
     4. อุบัติเหตุต่างๆ ได้แก่ อุบัติเหตุจาการแตกรั่วของท่อแก๊สหุงต้มอาหาร อุบัติเหตุจาการใช้ไฟฟ้า เช่น  การลัดวงจร การใช้ไฟฟ้าเกินกำลัง ทำให้ไฟช็อด อุบัติเหตุจากลูกไฟจากปล่องไฟของโรงงานลอบไปตกบนสิ่ง ที่เป็นเชื้อเพลิง

     5. ธรรมชาติ เช่น ฟ้าผ่า ในขณะที่พายุหรือฝนตกหนัก หากไม่มีสายล่อฟ้าที่ถูกต้อง ก็จะเกิดไฟไหม้ได้ หรือ การสันดาปของสารเคมีบางชนิด เช่น ฟอสฟอรัสเหลือง ฟอสฟอรัสขาว ที่ทำปฏิกิริยากับออกซิเจนในอากาศ
     6. สาเหตุอื่นๆ เช่น การวางเพลิง การวางระเบิด การติดต่อลุกลามจากไฟไหม้บริเวณใกล้เคียง เป็นต้น
     การป้องกันอุบัติเหตุจากไฟไหม้ น้ำร้อนลวก การป้องกันอุบัติเหตุจากไฟไหม้ น้ำร้อนลวก มีดังนี้
     1. การรู้จักระมัดระวังไม่ประมาท เช่น การทิ้งก้นบุหรี่ต้องดับให้สนิทเสียก่อน เก็บวัตถุไวไฟในที่ปลอดภัย ห่างจากเปลวไฟ หรือห้องครัว ไม่สูบบุหรี่ที่เตียงนอน ไม่จุดธูปเทียนไหว้พระทิ้งไว้ ห้ามเด็กเล่นไฟ จุดพลุหรือจุดดอกไม้ไฟเล่น และตรวจสภาพเตาแก๊ส และถังแก๊สอยู่เสมอ
     2. การศึกษาหาความรู้  ปฏิบัติตามคำแนะนำ ในการใช้อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ อย่างเคร่งครัด เลือกใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าและสายไฟฟ้าที่ได้มาตรฐาน มีขนาดเหมาะสมกับปริมาณไฟฟ้าที่ใช้ หมั่นตรวจตรา อุปกรณ์ไฟฟ้า และสายไฟฟ้า ให้อยู่ในสภาพที่ดีเสมอ หากชำรุดต้องรีบเปลี่ยนทันที อย่าใช้ไฟฟ้า มากเกินขนาดของสายไฟฟ้าที่มีอยู่ และอย่าใช้เต้าเสียบตัวเดียว กับปลั๊กเสียบหลายตัว เพราะกระแสไฟฟ้าไหลผ่านเต้าเสียบมาก สายไฟจะร้อนจัด และลุกไหม้ได้ นอกจากนั้น เวลาที่จะต่อสายไฟฟ้า หรือเดินสายไฟฟ้าหรือทำการต่อฟิวส์ จะต้องยกสะพานไฟก่อนทุกครั้ง หรือหากไม่มีความรู้ความชำนาญเพียงพอ ควรให้ช่างไฟฟ้าเป็นผู้ซ่อมแซมแก้ไข
     3. การให้คำแนะนำ บอกหรืออบรมสั่งสอนสมาชิกในบ้าน ให้รู้จักปฏิบัติตนเพื่อให้ปลอดภัย เช่น แนะนำให้จับตัวปลั๊ก เมื่อจะเสียบหรือถอดปลั๊กไฟ อย่าใช้การดึงหรือกระชากสายไฟ อย่าตอกตะปูทับสายไฟฟ้า หรืออย่าขึงลวดราวตากผ้าทับสายไฟฟ้า เวลาที่มือหรือเท้าเปียกชื้นหรือพื้นที่บริเวณเครื่องใช้ไฟฟ้านั้นชื้นแฉะ หรือเครื่องไฟฟ้าที่ต้องการใช้นั้นเปียกน้ำ ต้องงดการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชนิดทันที เพราะน้ำเป็นสื่อนำไฟฟ้า ได้ดีมากและไม่ควรเล่นว่าวใกล้สายไฟฟ้าแรงสูง รวมทั้งไม่ใช้ไฟฟ้าจับปลาเด็ดขาด เพราะอาจถูกไฟฟ้าดูด เสียชีวิตได้ และผิดกฎหมายด้วย
     4. การติดตั้งและข้อควรระมัดระวังเกี่ยวกับอุปกรณ์ หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ เพื่อความปลอดภัย ควรติดตั้งเต้าเสียบ ให้สูงกว่าพื้นไม่น้อยกว่า 1.20 เมตร เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กเล็กเอานิ้วแหย่เล่น หรือใช้โลหะไชเข้าไป ควรต่อสายลงดินสำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิด ใช้สวิตซ์เต้าเสียบ และขั้วหลอดไฟฟ้าชนิดที่มีฉนวนหุ้มมิดชิด เลือกใช้ฟิวส์ที่มีขนาดเหมาะกับ วงจรไฟฟ้าที่ใช้เท่านั้น และไม่ใช้ลวดทองแทนฟิวส์เป็นอันขาด ในการตั้งเครื่องใช้ไฟฟ้าประเภทตู้เย็น หรือโทรทัศน์ ควรตั้งให้ตู้ห่างฝา เกิน 10 เซนติเมตร และไม่ควรวางเศษผ้า เศษกระดาษ หรือขยะไว้ด้านหลังเครื่องใช้ไฟฟ้า เพื่อจะได้ ระบายความร้อนได้สะดวก ไม่เปลืองไฟฟ้า และป้องกันการลุกไหม้ที่อาจเกิดขึ้นได้  นอกจากนี้ ไม่ควรติดตั้งสวิตซ์ไฟฟ้า เต้าเสียบ หรือนำเครื่องใช้ไฟฟ้า ที่ไม่มีเครื่องป้องกันอย่างเพียงพอ ไว้ภายในห้องน้ำ เพราะน้ำเป็นสื่อนำไฟฟ้าได้ดี และไม่ควรติดตั้งสาย และอุปกรณ์ไฟฟ้าไว้กับตู้เลี้ยงปลาด้วย เพราะอาจรั่วได้ หากติดตั้งไม่ถูกต้อง และใช้ไม่เหมาะสม ถ้าต้องการนำเครื่องใช้ไฟฟ้า นำปั๊มลมมาใช้ควรต่อครอบโลหะลงดิน
   สำหรับการป้องกันเพลิงไหม้จากไฟฟ้า ซึ่งแผนดับเพลิงพิทักษ์ประชา’29 ได้แนะนำไว้มีดังนี้
1.      อย่าใช้ลวดทองแดงแทนฟิวส์
2.      อย่าใช้ฟิวส์ผิดขนาด ไปจากมาตรฐานที่การไฟฟ้ากำหนด
3.      อย่าใช้ไฟฟ้าเกินขนาดของสายไฟ
4.      อย่าใช้กระดาทำโคมไฟ
5.      อย่าเสียบปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าทิ้งไว้ เมื่อเลิกใช้ควรถอดออกทุกครั้ง
6.      อย่าต่อปลั๊กไฟหรือเครื่องใช้ไฟฟ้าหลายๆ ชนิด ในปลั๊กเดียวกัน
7.      อย่าเดินสายไฟลอดใต้เสื่อหรือพรม
8.      อย่านำวัตถุไวไฟใกล้กับแผงสวิทซ์ไฟฟ้า
9.      ควรใช้เครื่องใช้ไฟฟ้า ตามคำแนะนำของผู้ผลิต
10. ควรใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าและเครื่องใช้ไฟฟ้า ให้ได้มาตรฐานของสำนักงานมาตรฐาน กระทรวงอุตสาหกรรม
11. ควรใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ให้ความร้อนด้วยความระมัดระวัง
12. ควรมีระบบตัดไฟ เพื่อป้องกันไฟฟ้าซ๊อดหรือรั่ว
     ก่อนออกจากบ้าน หรือ ก่อนเข้านอนทุกคืนควรตรวจดูให้ดีเสียก่อน
1.      ธูปเทียนที่จุดเอาไว้
2.      เครื่องใช้และอุปกรณ์ไฟฟ้า
3.      เตาแก๊ส
4.      ก้นบุหรี่
(ท่านได้จัดการเรียบร้อยแล้วหรือยัง)
    5. การติดตั้งเครื่องตัดไฟ เครื่องมือตรวจจับความร้อน และควันไฟ (Home Smoke Detectors) ระบบเตือนไฟไหม้ (Fire Warning System) และเครื่องดับเพลิงภายในบ้าน ควรติดตั้งเครื่องป้องกัน อันตรายต่างๆ ไว้ภายในบ้าน เครื่องตัดไฟจะช่วยตัดไฟเมื่อเกิดไฟดูด ไฟรั่ว ไฟช๊อตหรือใช้ไฟมากเกินไฟ ส่วนเครื่องเตือนกลิ่นควันไฟ และระบบเดือนไฟไหม้ ้จะช่วยให้ทราบเร็วขึ้นว่า เกิดการลุกไหม้ภายในบ้านแล้ว สมาชิกทุกคนในบ้านจะได้เตรียมพร้อมเพื่อแก้ปัญหา และหาทางออก จากที่เกิดเหตุได้โดยรวดเร็ว สำหรับเครื่องดับเพลิงนั้น ควรจัดให้มีเครื่องดับเพลิง ชนิดผงเคมีแห้ง เพราะใช้ดับเพลิงได้ทุกประเภท และใช้ในการดับเพลิงขั้นต้น จากกระแสไฟฟ้า ซึ่งต้องหมั่นตรวจสภาพให้พร้อม ที่จะใช้ได้ทันทีอยู่เสมอ
     อย่างไรก็ตาม พึงระลึกเสมอว่าเครื่องป้องกันอันตรายต่างๆ มิใช่บ่งบอกว่า จะไม่เกิดอัคคีภัยเสมอไป สมาชิกทุกคนในบ้านจะต้องรู้จักระมัดระวังอันตราย และตรวจสอบเครื่องป้องกันอันตราย และเครื่องเตือนภัยด้วย ความสุขและความปลอดภัยจึงจะบังเกิดขึ้น

     ข้อควรปฏิบัติเมื่อเกิดไฟไหม้ มีดังนี้

     1. ให้แจ้งข่าวเพลิงไหม้ทันที ต่อหน่วยดับเพลิงที่อยู่ใกล้บริเวณเกิดเหตุมากที่สุด (สำหรับในเขตกรุงเทพมหานครแจ้งได้ที่ 199 191 หรือ 123)
     2. ควรดับเพลิงด้วยเครื่องดับเพลิงชนิดผงเคมีแห้ง เพราะใช้ดับเพลิงได้ทุกประเภท
    หากไม่สามารถดับเพลิงขั้นต้นได้ ให้รีบปิดประตูห้อง หรือหน้าต่าง และอุดท่อต่างๆ ซึ่งจะทำให้ไฟลุกลามช้าลงไฟ จากนั้นให้รีบหาทางออก จากที่เกิดเหตุให้เร็วที่สุด ถ้าเป็นอาคารสูง ให้หนีลงทางบันไดหนีไฟ อย่าใช้ลิฟท์เป็นอันขาด เพราะเมื่อไฟฟ้าดังจะติดอยู่ในลิฟท์นั้น