วันเสาร์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ใบความรู้ เรื่อง“กระบวนการทางประชาสังคม”

สาระสำคัญ
          ด้วยเหตุที่อุบัติเหตุ ภัยอันตราย และความรุนแรงต่างๆ เป็นปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นในชุมชน ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่มักเกิดจากตัวบุคคล และสภาพแวดล้อมในชุมชนนั้นๆ การสร้างเสริมความปลอดภัยให้ชุมชนเข้มแข็ง จึงจำเป็นที่จะต้องใช้กระบวนการทางประชาสังคม เพื่อให้ประชาชนในสังคมหรือชุมชน มีส่วนร่วมใน                การช่วยเหลือชุมชนได้สอดคล้องกับความต้องการ ความสนใจ และปัญหาของชุมชน อันจะเป็นผลทำให้สังคม มีสวัสดิภาพและความปลอดภัยได้เพิ่มขึ้น

สาระการเรียนรู้
. ความหมายของประชาสังคม  (Civil  Society)
ประชาสังคม มาจากภาษาอังกฤษว่า Civil Society  เป็นการรวมกลุ่มของประชาชน ได้แก่ เครือข่าย  กลุ่ม  ชมรม  สมาคม  มูลนิธิ  สถาบัน  องค์กร หรือชุมชนที่มีกิจกรรมการเคลื่อนไหวทางสังคม เป็นต้น  เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาสังคมให้หมดไป  เน้นการแก้ปัญหามวลรวมของสังคมเป็นใหญ่ โดยมุ่งเน้นถึงประโยชน์ระยะยาวของชาติและประชาชนเป็นสำคัญ วิธีการแก้ปัญหานี้อาจสร้างความไม่พอใจให้แก่ประชาชนบางกลุ่ม  แต่แนวนโยบายนี้เน้นการขับเคลื่อนของประชาชนมวลรวมเป็นหลัก ในการมีส่วนร่วมเข้ามาแก้ปัญหา ไม่ใช่ให้เพียงกลุ่มคนใดเข้ามาแก้ไขเพียงกลุ่มเดียว
. องค์ประกอบของกระบวนการประชาสังคม
กิจกรรมหรือกระบวนการที่จะเรียกว่าเป็นประชาสังคมได้นั้น จะต้องประกอบด้วยองค์ประกอบที่สำคัญ ๓ ส่วนได้แก่
. จิตสำนึกประชาสังคม หมายถึง ความคิดและความยอมรับในเรื่องการรวมตัวกันอย่างอิสระด้วยความรัก ความเอื้ออาทร ความยอมรับในความคิดเห็นของกันและกัน ในอันที่จะเรียนรู้ร่วมกันหรือแก้ไขปัญหาที่เผชิญอยู่
. โครงสร้างองค์กรประชาสังคม หมายถึง กลุ่มการรวมตัวซึ่งอาจเป็นองค์กรที่เป็นทางการหรือไม่เป็นทางการก็ได้ เป็นกลุ่มที่รวมตัวกันเฉพาะคราว เฉพาะเรื่องหรือต่อเนื่องก็ได้ สมาชิกของกลุ่มอาจเป็นบุคคลในภาครัฐ ภาคธุรกิจ หรือประชาชน หรือรวมกันอยู่ก็ได้ จำนวนสมาชิกมีได้มากไม่จำกัด แต่อย่างน้อยที่สุดต้องมี ๒ คน และการรวมตัวจะเป็นประชาสังคมได้นั้นจะต้องมีจิตสำนักประชาสังคมครบถ้วน
. เครือข่ายประชาสังคม หมายถึง โครงสร้างและกระบวนการซึ่งเชื่อมโยงสมาชิกในกลุ่มหรือองค์ประชาสังคมต่างๆ เข้าด้วยกัน ปัจจัยสำคัญของเครือข่ายประชาสังคม คือ ระบบการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพและการสัมพันธ์กันด้วยความสมานฉันท์
เครือข่ายประชาสังคม จะเป็นสิ่งที่ช่วยรวมพลังแห่งจิตสำนึกของสมาชิก และองค์กรประชาสังคมต่างๆ ให้เกิดเป็น พลัง ที่มีความเข้มแข็งในสังคมขึ้นมา


. แนวคิดการให้กระบวนการทางประชาสังคมสร้างเสริมความปลอดภัย
ในการสร้างเสริมความปลอดภัยให้ชุมชนเข้มแข็งและปลอดภัยนั้น ควรใช้แนวคิดหรือเทคนิค เกี่ยวกับกระบวนการทางประชาสังคม ดังนี้
๑.      แนวคิดเรื่องผู้นำชุมชน
ผู้นำชุมชนมีความสำคัญและมีบทบาทอย่างยิ่งในการสร้างหรือพัฒนาชุมชนให้เจริญก้าวหน้า และการสร้างเสริมความปลอดภัยในเรื่องการป้องกันอุบัติเหตุ ภัยอันตราย และความรุนแรงต่างๆ เหล่านี้            ผู้นำชุมชนย่อมเป็นกำลังที่สำคัญมาก ประเภทของผู้นำเหล่านี้ เช่น ผู้นำทางการปกครอง ผู้นำทางการเมือง          ผู้นำทางศาสนา ผู้นำทางสถานศึกษา เป็นต้น ส่วนบุคคลที่เป็นผู้นำตามประเภทดังกล่าว เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภาเขต ตำรวจ พระสงฆ์ ผู้อำนวยการสถานศึกษา ครู แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาล นักวิชาการสุขศึกษา วิศวกร เป็นต้น
ผู้นำชุมชนที่ดีย่อมมีความรับผิดชอบต่อชุมชนหรือสังคมที่อาศัยอยู่ มีความเอาใจใส่และสนใจที่จะให้ความช่วยเหลือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องความปลอดภัยของชุมชน การดำเนินงานป้องกัน อุบัติเหตุ         ภัยอันตรายหรือความรุนแรงต่างๆ โดยการนำของบุคคลเหล่านนี้ย่อมจะได้รับความร่วมมือ และยอมรับจากประชาชนในชุมชนเป็นอย่างดี ทั้งนี้เพราะผู้นำชุมชนมักจะเป็นตัวอย่างที่ดีและมีแผน ปฏิบัติงานที่เหมาะสมสอดคล้องกับความสนใจ ความต้องการ และปัญหาของชุมชนด้วย
๒.     แนวคิดเรื่องความสำคัญของกลุ่ม
โดยทั่วไปคนเราทุกคนต้องการได้รับความเคารพยกย่องจากผู้อื่น ความรู้สึกที่เป็น เจ้าของ ต้องการมีสถานภาพและความมั่นคง โดยการยอมรับของสมาชิกในกลุ่มจึงพยายามทำตามหรือปฏิบัติตามที่กลุ่มหรือสังคมถือปฏิบัติ เพื่อจะได้ปรับตัวให้เข้ากับสังคมและสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น                 ในเรื่องการสร้างเสริมความปลอดภัยให้ชุมชนเข้มแข็ง จึงควรเน้นการยอมรับของกลุ่มและแรงผลักดันของกลุ่ม ในการติชมหรือการยกย่อง เมื่อมีการปฏิบัติได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย
๓.     แนวคิดเรื่องค่านิยมของสังคม
ความร่วมมือและความเป็นอิสระ เป็นความต้องการพื้นฐานของคนเรา หากบุคคลให้               ความร่วมมือรู้จักช่วยเหลือผู้อื่น ให้ความเคารพนับถือผู้อื่น รู้จักควบคุมตนเอง และมีบุคลิกลักษณะของ                ความเป็นพลเมืองดี ย่อมจะนำมาซึ่งการปฏิบัติที่ปลอดภัย
ในการสร้างเสริมความปลอดภัยให้ชุมชนจึงจำเป็นต้องให้บุคคลหรือกลุ่มคนในชุมชนรู้จักเรียนรู้ค่านิยมของสังคม การยอมรับของสังคม และการจัดกิจกรรมหรือโครงการที่อาศัยความร่วมมือ เช่น เรียนรู้ค่านิยมการสวมหมวกนิรภัยในการขับขี่รถจักรยานและรถจักรยานยนต์ ค่านิยมในการแต่งกายที่เหมาะสมไม่ล่อแหลมต่อการเกิดอาชญากรรม เป็นต้น
๔.     แนวคิดเรื่องระบอบประชาธิปไตย
การให้ความรู้จักและแนะนำให้ประชาชนในชุมชนรู้จักระบอบประชาธิปไตย สร้างความเข้าใจและการเรียนรู้ความเป็นประชาธิปไตย จะช่วยให้บุคคลในชุมชนตระหนักถึงปัญหาเรื่องภัยอันตราย อุบัติเหตุ หรือความไม่ปลอดภัยต่างๆ โดยจะต้องไม่คำนึงถึงความปลอดภัยเฉพาะของตนเองเท่านั้น แต่จะมีความรู้สึกรับผิดชอบต่อความปลอดภัยของผู้อื่นหรือสมาชิกอื่นในสังคมด้วยเสมอ ดังนั้น หากประชาชนยอมรับในกฎเกณฑ์ของสังคมในเรื่องนี้ เขาก็จะรู้สึกอิสระและพอใจในการปฏิบัติเพื่อความปลอดภัย ทั้งในด้านส่วนตัวและส่วนรวม
๕.     แนวคิดเรื่องความรับผิดชอบ
ความรับผิดชอบเป็นแรงจูงใจที่สำคัญในการทำให้บุคคลมีพฤติกรรมที่ถูกต้องสำหรับการที่ได้ฝึกปฏิบัติในสิ่งที่ท้าทายความรับผิดชอบนั้นก็มีส่วนช่วยให้เกิดสวัสดินิสัยด้วย บุคคลหรือประชาชนในชุมชน จึงควรได้รับโอกาสในการแสดงความสามารถและความไว้วางใจในการปฏิบัติงานหรือทำงาน ในสิ่งที่เขาต้องกระทำ หากชุมชนโดยเฉพาะผู้นำชุมชนมีการจัดโครงการหรือกิจกรรมป้องกัน อุบัติเหตุ หรือภัยอันตรายต่างๆ ก็ควรให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมรับผิดชอบและดำเนินงานด้วย ทั้งนี้ไม่ใช่เพียงแต่จะให้ประชาชนมี                  ความรับผิดชอบเท่านั้น แต่ยังมีส่วนให้ประชาชนรู้จักปฏิบัติตามกฎ ระเบียบหรือข้อบังคับเกี่ยวกับ                   ความปลอดภัยอีกด้วย

. แนวทางการสร้างเสริมความปลอดภัยในชุมชน
การสร้างเสริมความปลอดภัยเพื่อให้ชุมชนเข้มแข็งและปลอดภัย สามารถดำเนินการตามแนวทางดังต่อไปนี้
๑.      จัดตั้งคณะกรรมการดำเนินงานด้านการส่งเสริมความปลอดภัยในชุมชน โดยมีตัวแทนจากประชาชนเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการด้วย
๒.      จัดทำแผนป้องกันอุบัติเหตุ ภัยอันตราย และความรุนแรงต่างๆ ซึ่งประกอบด้วย แผนการบังคับบัญชา การสื่อสาร การฝึกซ้อมหนีภัยต่างๆ การปฏิบัติเพื่อความปลอดภัย การอพยพ เคลื่อนย้าย การรักษาพยาบาล
๓.      จัดตั้งชมรมอาสาสมัครป้องกันภัยหรือส่งเสริมความปลอดภัยในชุมชน เช่น ชมรมแม่บ้าน ชมรมพ่อบ้าน ชมรมเยาวชน ชมรมเด็กอาสาป้องกันภัย เป็นต้น
๔.      ศึกษาข้อมูลหรือสำรวจสภาพปัญหา ความต้องการ และความสนใจของประชาชนใน                การป้องกันอุบัติเหตุ ภัยอันตราย และความรุนแรงต่างๆ
๕.      จัดให้มีการฝึกอบรมในเรื่องความปลอดภัยแก่เยาวชนและประชาชนในชุมชน
๖.      จัดโครงการส่งเสริมความปลอดภัยในชุมชน เช่น โครงการวัยรุ่นดีเด่นด้านความปลอดภัย โครงการฝากบ้านไว้กับตำรวจ โครงการเยาวชนพ้นภัย โครงการเยาวชนต้านภัยยาเสพติด โครงการป้องกันอัคคีภัย โครงการประกวดหมู่บ้านปลอดภัย เป็นต้น
๗.      จัดกิจกรรมรณรงค์ป้องกันภัย อุบัติเหตุ และความรุนแรงต่างๆ โดยให้คนในชุมชนมีส่วนร่วมในมากที่สุด
๘.      จัดให้มีการเผยแพร่ความรู้ในเรื่องความปลอดภัยในชุมชนโดยผ่านสื่อต่างๆ เช่น หอกระจายข่าว โทรทัศน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ รายการวิทยุ “เพื่อนช่วยเพื่อน” หรือ “ร่วมด้วยช่วยกัน”         เป็นต้น
๙.      จัดกิจกรรมส่งเสริมความปลอดภัยในช่วงเทศกาลต่างๆ เช่น วันเด็ก วันแม่ วันพ่อ วันครู วันขึ้นปีใหม่ วันสงกรานต์ วันวิสาขบูชา วันเข้าพรรษา เป็นต้น

๔.๑ การระวังภัยภายในหมู่บ้าน
เนื่องจากมนุษย์เป็นสัตว์สังคม จึงนิยมปลูกสร้างบ้านเรือนอยู่รวมกัน ทั้งนี้เพื่อจะได้พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันเมื่อถึงคราวจำเป็น อีกทั้งเพื่อความอบอุ่นและปลอดภัยในการดำรงชีพด้วย สำหรับในเรื่อง                การสร้างเสริมความเข้มแข็งและความปลอดภัยในหมู่บ้านนั้น มีข้อเสนอแนะดังนี้
๑.                  ควรทำความรู้จักเพื่อนบ้าน  เราควรทำความรู้จักและพูดคุยกับเพื่อนบ้านบ้างตามสมควร เช่น เรื่องภูมิหลังทั่วไปเกี่ยวกับอาชีพ ฐานะทางเศรษฐกิจและสังคม เป็นต้น และควรจะสนทนากัน ถึงเรื่องอุบัติภัยหรือความปลอดภัยในหมู่บ้านบ้างเป็นครั้งคราว เพื่อนบ้านอาจจะรู้เรื่องราวข่าวคราวหรือเบาะแสเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ ซึ่งจะช่วยทำให้เราเข้าใจประเด็นปัญหาและภูมิหลังทั่วๆ ไป ของหมู่บ้าน ได้ดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเราเพิ่งจะเข้าไปอาศัยอยู่ในหมู่บ้านใหม่ๆ
๒.                 คอยสังเกตพฤติกรรมของคนเข้า-ออก ภายในหมู่บ้าน  หากเราพบว่ามีอะไรพิรุธหรือผิดสังเกตควรจะรีบเล่าให้สมาชิกทุกคนในบ้านทราบ เพื่อจะได้ช่วยกันเป็นหูเป็นตาและคอยติดตามความเคลื่อนไหวของบุคคลหรือสิ่งที่สงสัยเหล่านั้นในโอกาสต่อไป แต่ถ้าพบเหตุการณ์หรือพฤติกรรมซ้ำๆ เช่น มีคนขับมอเตอร์ไซค์หรือรถเก๋งมาจอดซุ่มอยู่เป็นประจำ ในจุดที่เปลี่ยวหรือล่อแหลมต่อภัยอันตราย เราควรจะรีบแจ้งตำรวจ สายตรวจ หรือป้อมตำรวจใกล้ๆ บ้านให้ทราบ
๓.                 ร่วมมือกันจัดยามคอยระวังเหตุ  ในหลายพื้นที่ที่ล่อแหลมต่ออันตรายเพราะมีอุบัติเหตุ หรือการโจรกรรมเกิดขึ้นบ่อย ชาวบ้านมักจะร่วมมือกันจัดเวรยามคอยระวังเหตุภายในหมู่บ้านของตนขึ้นตามจุดต่างๆ เพื่อแจ้งเหตุให้ทุกคนทราบว่า กำลังมีคนแปลกปลอมเข้ามาในหมู่บ้าน เป็นต้น
๔.                 ควรรู้จักแหล่งที่จะให้ความช่วยเหลือเมื่อฉุกเฉิน  แต่ละหมู่บ้านไม่ว่าจะเป็นในเมืองหรือชนบท ย่อมจะมีแหล่งบริการให้ความช่วยเหลือเกี่ยวกับเรื่องอุบัติเหตุหรืออุบัติภัยอยู่เสมอ เพียงแต่แหล่งเหล่านี้อาจจะอยู่ใกล้หรือไกลบ้านเท่านั้น แหล่งบริการอาจจะเป็นทั้งหน่วยงานของทางราชการ หรือทางเอกชนก็ได้ ตัวอย่างเช่น ที่ทำการของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สถานีตำรวจภูธรหรือนครบาล โรงพยาบาล สถานีอนามัย สถานพยาบาล หรือคลินิกแพทย์ต่างๆ เป็นต้น แหล่งบริการเหล่านี้จะสามารถให้ความช่วยเหลือได้เป็นอย่างดี และในทำนองเดียวกันเราก็ควรให้ความร่วมมือกับแหล่งบริการดังกล่าวบ้างตามสมควร





๔.๒ โครงการเพื่อนบ้านเตือนภัย
เมื่อมีเหตุร้ายเกิดขึ้น ถ้าท่านแจ้งเหตุให้ตำรวจทราบเร็วเท่าใดโอกาสที่คนร้ายจะหลบหนี           รอดมือตำรวจไปได้ก็มีน้อย เพราะตำรวจจะต้องรีบไปยังที่เกิดเหตุเพื่อทำการจับกุมทันที
ในกรณีที่ไม่อาจแจ้งภัยได้เองอันเกิดจากคนร้าย จับขัง คนร้ายขู่บังคับ จำเป็นที่ท่านจะต้องหาวิธีแจ้งภัยด้วยความร่วมมือกันกับเพื่อนบ้านข้างเคียงตามโครงการเพื่อนบ้านเตือนภัย โดยมี หลักการดังนี้
๑.      ถ้ามีเหตุร้ายเกิดขึ้นที่บ้านของท่าน เพื่อนบ้านข้างเคียงควรจะรับทราบและแจ้งภัยแทน           ตัวท่าน
๒.      การที่เพื่อนบ้านจะทราบภัยของท่านได้ก็ด้วยการแลกเปลี่ยนกันติดตั้งกระดิ่งหรือกริ่ง เตือนภัย คือ ท่านติดกระดิ่งหรือกริ่งไว้ที่บ้านเพื่อนบ้านและเพื่อนบ้านก็ติดกระดิ่งหรือกริ่งไว้ที่บ้านของท่าน เมื่อบ้านใดมีเหตุร้ายเกิดขึ้นพอกดสวิตช์สัญญาณภัยจะไปดังอีกบ้าน เพื่อนบ้านก็ทำหน้าที่แจ้งตำรวจให้มาตรวจสอบทันที
๓.      กระดิ่งหรือกริ่งนี้ ก็คือกระดิ่งหรือกริ่งธรรมดาที่ใช้ติดตั้งตามบ้าน ราคาประมาณ ชุดละ ๒๐๐-๓๐๐ บาท ถือว่าคุ้มอย่างมากกับการที่ท่านต้องสูญเสียทรัพย์สินอื่นๆ ที่คนร้ายเอาไปและหลบหนีไปได้
๔.      การติดตั้งสวิตช์ควรซ่อนไว้ในที่ลับ เช่น ห้องน้ำ ห้องนอน ห้องเก็บของตามแต่               ความเหมาะสมของแต่ละบ้าน
๕.      การแจ้งเหตุร้ายเมื่อได้รับส่งสัญญาณเตือนภัย ควรโทร.หมายเลข ๑๙๑ หรือ โทร. ๑๒๓           เพื่อแจ้งเหตุ โดยระบุสถานที่เกิดเหตุและสถานที่ใกล้เคียงเพื่อให้ตำรวจได้รีบไปอย่างเร็วที่สุด

บรรณานุกรม

สุชาติ โสมประยูร. (๒๕๔๕) กลุ่มสาระการเรียนรู้ สุขศึกษาและพลศึกษา (สุขศึกษา) ช่วงชั้นที่ ๔ (.-) เล่ม ๓. กรุงเทพฯ : ประสานมิตร.


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น