วันเสาร์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ใบความรู้ เรื่อง “การประเมินสุขภาพ”

การประเมิน หมายถึง การคาดคะเนหรือประมาณค่า
สุขภาพ  (Health) หมายถึง สุขภาวะ (Well–Being หรือ Wellness) ที่สมบูรณ์และเชื่อมโยงกันเป็นองค์รวมอย่างสมดุลทั้งมิติทางจิตวิญญาณ (มโนธรรม) ทางสังคม ทางกาย และทางจิต ซึ่งมิได้หมายถึงเฉพาะความไม่พิการและความไม่มีโรคเท่านั้น
การประเมินสุขภาพ หมายถึง การคาดคะเนหรือประมาณค่าความสมบูรณ์ทั้งทางกาย ทางจิต และทางสังคม
ความสำคัญของการประเมินสุขภาพ
การประเมินสุขภาพเป็นวิธีการหนึ่งที่เราสามารถรู้ตนเองว่า มีความเสี่ยงต่อสุขภาพอย่างไร สามารถตรวจสอบด้วยตนเองได้ รู้เหตุผลของการเกิดสภาวะเสี่ยงทางสุขภาพและสวัสดิภาพ ไม่ว่าจะเกิดจากโรค สิ่งแวดล้อม สิ่งเสพติด อุบัติเหตุและอุบัติภัยต่างๆ เพื่อให้เกิดความตระหนักและเห็นความสำคัญในการดูแลสุขภาพให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี เป็นที่ปรารถนาของคนทุกคน
องค์ประกอบของสุขภาพ
สุขภาพของคนเราจะดีหรือไม่ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบ ๓ ส่วน คือ
๑)      สุขภาพทางกายดี
สุขภาพดี หมายถึง การมีร่างกายที่แข็งแรง สมบูรณ์ ระบบต่างๆ ในร่างกายทำงานมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สามารถประกอบกิจกรรมต่างๆ ได้เป็นปกติ
๒)      สุขภาพทางจิตดี
สุขภาพจิตดี หมายถึง การสุขภาพของจิตใจที่ดี สามารถปรับตัวให้อยู่ในสังคมและสิ่งแวดล้อมได้อย่างเป็นสุข
๓)      สุขภาพทางสังคมดี
สุขภาพทางสังคมดี หมายถึง การดำรงชีวิตอยู่ในครอบครัวและสังคมอย่างมีความสุข สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างดี มีความขัดแย้งน้อยที่สุด

การสร้างเสริมสุขภาพและการป้องกันโรคด้วยภูมิปัญญาไทย
ภูมิปัญญาไทย (Thai Wisdom) หมายถึง สติปัญญา องค์ความรู้และค่านิยมที่นำมาใช้ในการดำเนินชีวิตได้อย่างเหมาะสม เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่เกิดจากการสั่งสมประสบการณ์ ความรู้แขนงต่างๆ ของบรรพชนไทยนับแต่อดีต สอดคล้องกับวิถีชีวิต ภูมิปัญญาไทย จึงมีความสำคัญต่อการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทย ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม
          ลักษณะของภูมิปัญญาไทย มีองค์ประกอบต่อไปนี้
          ๑.  คติ   ความเชื่อ  ความคิด  หลักการที่เป็นพื้นฐานขององค์ความรู้ที่เกิดจากสั่งสมถ่ายทอดกันมา
          ๒.  ศิลปะ  วัฒนธรรม  และขนบธรรมเนียมประเพณี
          ๓.  การประกอบอาชีพในแต่ละท้องถิ่นที่ได้รับการพัฒนาให้เหมาะสมกับสมัย
          ๔.  แนวคิด  หลักปฏิบัติ  และเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่นำมาใช้ในชุมชน  ซึ่งเป็นอิทธิพลของความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
          ตัวอย่างภูมิปัญญาไทยที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ เช่น การแพทย์แผนไทย สมุนไพร อาหารไทย ยาไทย ฯลฯ
การแพทย์แผนไทย เป็นการรวมศาสตร์เกี่ยวกับบำบัดโรค ทั้งการใช้ยาสมุนไพร หัตถบำบัด การรักษากระดูกและโครงสร้าง โดยอิงกับความ เชื่อทางสังคม วัฒนธรรม และธรรมชาติ เป็นความรู้ที่ไม่มีเกณฑ์ตายตัว ขึ้นอยู่กับหมอรักษาวิธีใดได้ผลก็ใช้วิธีนั้นสืบต่อกันมา
การแพทย์แผนไทย (Thai traditional medicine) หมายถึง กระบวนการทางการแพทย์เกี่ยวกับการตรวจ วินิจฉัย บำบัด รักษา หรือป้องกันโรค หรือการส่งเสริมแบะฟื้นฟูสภาพของมนุษย์หรือสัตว์ การผดุงครรภ์และเครื่องมือทางการแพทย์ ทั้งนี้ โดยอาศัยความรู้หรือตำราที่ได้ถ่ายทอดและสืบต่อกันมา (พระราชบัญญัติคุ่มครองและส่งผลภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. ๒๕๔๒)
        ยาไทยมาจากส่วนผสม ๔ ประเภท คือ พืชวัตถุ สัตว์วัตถุ ธาตุวัตถุ เช่น เกลือสมุทร กำมะถัน ทองคำ ดินปะสิว และจุลชีพ เช่น เห็ด รา โดยแพทย์หรือผู้จ่ายยาต้องรู้ลักษณะ สี กลิ่น รส ชื่อของสิ่งที่นำมาใช้ ประเภทและอาการของโรคอย่างดีก่อนจึงจะนำมาใช้ได้ นอกจากนี้วิธีการปรุงยาก็มีหลายวิธีด้วยกันตามรูปแบบของยา เช่น กิน อาบ ดื่ม พอก หรือแช่ เป็นต้น
ความสำคัญของภูมิปัญญาไทยต่อการสร้างเสริมสุขภาพและการป้องกันโรคในชุมชน
ทุกชุมชนมีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง ทั้งประเพณี วัฒนธรรม และวิถีการดำเนินชีวิตซึ่งเอกลักษณ์ดังกล่าวได้ดำเนินขึ้นและสืบทอดโดยคนรุ่นก่อนในชุมชน มีการสั่งสมภูมิปัญญาด้านต่าง และผ่านการพัฒนาใช้ให้สอดคล้องกับชีวิต สิ่งแวดล้อม และทรัพยากรในชุมชน เช่น การแต่งกาย การรับประมานอาหาร การสร้างบ้านเรือน รวมถึงการดูแลรักษาสุขภาพและการบำบัดโรค ซึ่งผ่านการลองผิดลองถูกจนเกิดเป็นปัญญาในการสร้างเสริมสุขภาพและการป้องกันโรคของชุมชน ตัวอย่างเช่น การรับประทานผักเพื่อบำรุงร่างกาย การรักษาโรคด้วยสุมนไพร การนาดไทยเพื่อบำบัด บรรเทาการเจ็บป่วย การประคบสมุนไพรรักษาอาการปวดเมื่อย เคล็ดขัดยอก หรือการอยูไฟเพื่อส่งเสริมและฟื้นฟูสุขภาพของผู้หญิงหลังคลอดบุตร เป็นต้น
ภูมิปัญญาไทยจึงมีความสำคัญต่อสุขภาพในเรื่องของการบำบัด บรรเทา รักษาป้องกันโรคและการสร้างเสริมสุขภาพในชุมชน ให้มีสุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรง นอกจากภูมิปัญญาทางการแพทย์ของคนไทยจะช่วยส่งเสริมการมีสุขภาพที่ดีแล้วยังช่วยลดปัญหาสาธารณสุขของประเทศชาติได้ โดยช่วยรัฐบาลลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ลดการนำเข้ายารักษาโรค เวชภัณฑ์และเทคโนโลยีทางการแพทย์จากต่างประเทศที่เกินความจำเป็นให้ลดน้อยลง ซึ่งผลดีดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อคนไทยในชุมชนหรือท้องถิ่นต่างๆ รู้จักประยุกต์ใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในชุมชนของตนเองมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการรักษาดูแลสุขภาพ รวมถึงการพึ่งพาภูมมิปัญญาของแพทย์ที่ถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษ มาใช้ในการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด


แนวทางการใช้ภูมิปัญญาไทยเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพและการป้องกันโรคในชุมชน
การแพทย์แผนไทยเป็นภูมิปัญญาไทยเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพและการป้องกันโรคในชุมชนที่นักเรียนสามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับชุมชนของตนเองได้ ดังตัวอย่างต่อไปนี้
. การนวดไทย เป็นภูมิปัญญาอันล้ำค่าในการรักษาโรค การสร้างเสริมสุขภาพร่างกายและจิตใจของคนไทย ที่สืบทอดกันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และจัดเป็นวัฒนธรรม วิถีชีวิตของคนไทยที่แสดงถึงการดูแลสุขภาพกันภายในครอบรัวเช่น ภรรยานวดให้สามี ลูกนวดให้ปู่ย่าตายาย โดยอวัยวะต่างๆ เช่น ศอก เข่า เท้า นวดให้กัน อีกทั้งยังมีการพัฒนาโดยใช้อุปกรณ์ช่วยในการนวด เช่น ไม้กดท้อง นมสาว การนวดไทย แบ่งออกได้เป็น 2 แบบ ได้แก่ การนวดแบบราชสำนัก และการนวดแบบเชลยศักดิ์ ประโยชน์ของการนวดไทยมีผลดีต่อสุขภาพในหลายๆด้าน เช่น การกระตุ้นระบบประสาท เพิ่มประสิทธิภาพของระบบทางเดินหายใจ ช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบไหลเวียนโลหิตและน้ำเหลือง ลดการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ และผ่อนคลายความตึงเครียดทางจิตใจ
. การประคบสมุนไพร เป็นภูมิปัญญาทางด้านการแพทย์แผนไทยที่มีการสืบทอดจากบรรพบุรุษมาช้านาน โดยมีการใช้สมุนไพรห่อด้วยผ้าเป็นลูก เรียกว่า ลูกประคบ นำลูกประคบไปนึ่งให้ร้อนแล้วนำมาประคบบริเวณที่มีอาการปวดเมื่อย เคล็ด ขัดยอก จะช่วยบรรเทาอาการปวดได้ซึ่งสมุนไพรที่ใช้ทำลูกประคบส่วนใหญ่นั้นจะมันน้ำมันหอมระเหย เมื่อนึ่งให้ร้อนแล้วแล้วน้ำมันหอมระเหยซึ่งเป็นตัวยาจะออกมากับไอน้ำและความชื้น และเมื่อประคบตัวยาเหล่านั้นจะซึมเข้าผิวหนัง ช่วยรักษาอาการเคล็ด ขัดยอก ลดอาการบวมอักเสบของกล้ามเนื้อ เอ็น และข้อต่อ นอกจากนี้ความร้อนจากลูกประคบยังช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด ช่วยให้ตัวยาซึมผ่านผิวหนังได้ดีขึ้น อีกทั้งกลิ่นของน้ำมันหอมระเหยยังช่วยให้คลายเครียด เกิดความสดชื่นอีกด้วย
. น้ำสมุนไพร ผักพื้นบ้านและอาหารเพื่อสุขภาพ อาหารและน้ำดื่มนอกจากจะช่วยให้ร่างกายเจริญเติมโตแข็งแรงอยูในภาวะปกติแล้ว อาหารและน้ำสมุนไพรบางชนิดที่นิยมรักประทานกันอยู่ในปัจจุบันยังช่วยรักษาโรคและอาการเจ็บป่วยต่างๆ ได้อีกตัว ซึงเกิดจากความเฉลียวฉลาดของบรรพบุรุษ ที่ได้คิดปรุงแต่งอาหารและเครื่องดื่มที่มีคุณค่าบำรุงร่างกาย โดยผ่านการผสมผสานองค์ความรู้ต่างๆ เข้ากับวิถีการดำเนินชีวิตของคนไทยได้อย่างกลมกลืน เช่น น้ำขิงช่วยขับลม แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ น้ำใบบัวบกแก้ร้อนใน กระหายน้ำ น้ำมะพร้าวช่วยขับปัสสาวะ ลดไข้ ทำให้สดชื่น ส่วนผักพื้นบ้านและพืชสมุนไพรไทยที่เป็นส่วนประกอบของเครื่องแกงในอาหารไทยมีสรรพคุณในการบำรุงรักษาร่างกายได้อย่างดี เช่น ในโหระพารสเผ็ดร้อนแก้เป็นลม วิงเวียน ตะไคร้แก้ปวดท้อง ลดความดันเลือด มะนาวมีรสเปรี้ยวป้องกันโรคเลือดออกตามไรฟันฟักทองมีเบต้าแคโรทีนสูงช่วยบำรุงร่างกาย และมะขามใช้เป็นยาระบาย แก้โรคบิด เป็นต้น
. การทำสมาธิ สวดมนต์ และภาวนาเพื่อการรักษาโรค เป็นวิถีชีวิตและความเชื่อ ความศรัทธาต่อพระพุทธศาสนาของชาวไทยที่นิยมปฏิบัติสืบต่อกันมา จัดว่าเป็นภูมิปัญญาทางการแพทย์แผนไทยที่ช่วยสร้างเสริมสุขภาพได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะสุขภาพทางใจ เพราะการทำสมาธิสวดมนต์และภาวนาช่วยให้จิตใจที่สับสนและว่าวุ้นเกิดความสงบ มีความสุข ผ่อนคลายความเครียดมีสมาธิและเกิดปัญญา ในปัจจุบันมีการวิจัยทางการแพทย์พบว่า การสวดมนต์ ภาวนา และการทำสมาธิช่วยให้หัวใจทำงานหนักน้อยลง ส่งผลดีต่อปอด ระบบการหายใจ นอกจากนี้การนั่งสมาธินานๆ จะคลายความวิตกกังวล ร่างกายได้รับการพักผ่อนอย่างแท้จริง

. กายบริหารแบบไทย หรือกายบริหารท่าฤาษีดัดตน เป็นภูมิปัญญาทางการแพทย์แผนไทยเกิดขึ้นจากการสิบทอดบอกเล่าต่อ ๆ กันมาของนักบวช นักพรต พระสงฆ์ หรือชาวพุทธที่นิยมนั่งสมาธิ วิปัสสนากรรมฐาน ซึ่งมีความแตกต่างกับท่าโยคะของอินเดีย โดยเป็นท่าที่ไม่ผาดโผน หรือฝืนร่างกายจนเกินไป บุคคลทั่วไปสามารถทำได้ และเมื่อปฏิบัติอย่างถูกต้องจะช่วยรักษาอาการปวดเมื่อย ช่วยให้การเคลื่อนไหวของแขน ขา หรือข้อต่อต่างๆ เป็นไปอย่างคล่องแคล่ว ทำให้เลือดหมุนเวียนได้ดี สร้างสมาธิ ผ่อนคลายความเครียด และเพิ่มประสิทธิภาพของการหายใจ

หนังสืออ้างอิง

รัชนี ขวัญบุญจัน และคณะ. (๒๕๔๗). หนังสือเรียนสาระการเรียนรู้พื้นฐาน กลุ่มสาระการเรียนรู้ สุขศึกษา
และพลศึกษา ช่วงชั้นที่ ๔ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๕. กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพาณิช.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น