วันเสาร์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ใบความรู้ เรื่อง “สิ่งแวดล้อมในชุมชน”

ความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประกอบกับการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร ส่งผลให้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมถูกทำลาย และมีสภาพที่เสื่อมโทรมจนถึงระดับที่ก่อให้เกิดปัญหาต่อมนุษย์และสิ่งมีชีวิต โดยเฉพาะปัญหาสุขภาพและการเจ็บป่วยของมนุษย์ ดังนั้นทุกคนควรร่วมมือกันดูแลและจัดการสิ่งแวดล้อมให้น่าอยู่น่าอาศัยไม่ให้เกิดปัญหามลพิษที่อาจส่งผลเสียทางสุขภาพปัญหามลพิษที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม เป็นปัญหาที่สำคัญของประเทศที่สงผลกระทบต่อสุขภาพและการเกิดโรคของประชาชน ซึ่งประกอบไปด้วยปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ ดังตัวอย่างต่อไปนี้
ปัญหามลพิษทางอากาศ
อากาศ เป็นสิ่งจำเป็นต่อการมีชีวิตอยู่ของมนุษย์ เพราะถ้ามนุษย์ขาดอากาศในการหายใจเพียงแค่ ๑ นาที ก็อาจทำให้เสียชีวิตได้ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับการขาดน้ำหรือการขาดอาหารแล้วร่างกายยังสามารถคงอยู่ได้เป็นวันหรือเป็นสัปดาห์ นอกจากอากาศจะเป็นสิ่งที่ทำให้ทุกคนดำรงชีวิตอยู่ได้แล้ว อากาศที่ใช้หายใจยังต้องมีคุณภาพดีด้วย โดยไม่มีเขม่า ควัน หรือแก๊สพิษที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ดังนั้น ถ้าบุคคลที่อยู่อาศัยในบริเวณที่มีอากาศดีย่อมทำให้มีสุขภาพที่ดีตามไปด้วย อีกทั้งช่วยลดปัญหาการเกิดโรคในระบบทางเดินหายใจและโรคปอด
มลพิษทางอากาศ หมายถึง ภาวะของอากาศที่มีสิ่งเจือปนอยู่ในระดับสูงกว่าปกติ จนก่อให้เกิดโทษหรืออันตรายต่อมนุษย์ สัตว์ พืช และทรัพย์สิน สิ่งเจือปนดังกล่าว เช่น ฝุ่นละออง ไอควัน แก๊สพิษ กลิ่นกัมมันตภาพรังสี เป็นต้น
. แหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศ
แหล่งกำเนิดของมลพิษทางอากาศส่วนใหญ่มักมาจากการกระทำของมนุษย์ มีดังนี้
) เกิดจากยวดยานพาหนะ ยวดยานที่ใช้ในการเดินทางสัญจรของมนุษย์ เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดมลพิษทางอากาศ เพราะการใช้ยวดยานพาหนะแต่ละครั้งจะต้องมรการสันดาปเชื้อเพลิง ซึ่งการสันดาปเชื้อเพลิงที่ไม่สมบูรณ์ของเครื่องยนต์นั้นก่อให้เกิดสารมลพิษที่ระบายสู่บรรยากาศ เช่น แก๊สคาร์บอนมอนอกไซด์ ฝุ่นละอองขนาดเล็ก เขม่า ควัน แก๊สซัลเฟอร์ไดออกไซด์ สารตะกั่ว เป็นต้น โดยเฉพาะในบริเวณที่มีการจราจรคับคั่ง หรือมีการจราจรติดขัดตามเมืองใหญ่ มักประสบกับปัญหามลพิษทางอากาศที่รุนแรง
) เกิดจากโรงงานอุตสาหกรรม โรงงานอุตสาหกรรมเป็นแหล่งกำเนิดของมลพิษทางอากาศที่สำคัญ เพราะกระบวนการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรมทุกประเภทมักมีการเผาไหม้เชื้อเพลิงทั้งเชื้อเพลิงที่เป็นของแข็ง ของเหลว และแก๊ส ซึ่งทำให้เกิดสารมลพิษประเภทไฮโดรเจนซัลไฟด์ ออกไซด์ของซัลเฟอร์ สารระเหยอินทรีย์ กลิ่น และอนุภาพต่าง ๆ
) เกิดจากการเกษตรกรรม การเกษตรกรรมทั้งการเพาะปลูกและการเลี้ยงสัตว์เป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดมลพิษทางอากาศได้เช่นกัน ซึ่งส่วนใหญ่มักจะมีปัจจัยมาจากการใช้สารเคมี สารปราบศัตรูพืช การใช้ปุ๋ยเคมี และการเผาซังข้าว หรือการกำจัดมูลสัตว์ที่ไม่ถูกวิธี สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จะเป็นตัวก่อให้เกิดสารมลพิษทางอากาศต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อสุขภาพอนามัยของบุคคล
) เกิดจากขยะมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล ขยะมูลฝอยและสิ่งปฏิกูลที่ไม่ได้ทำลายด้วยวิธีที่ถูกต้อง จะก่อให้เกิดกลิ่นเหม็น เป็นแหล่งเพาะเชื้อโรค และมีสารอันตรายที่ปะปนในอากาศ อีกทั้งการเผาทำลายขยะมูลฝอยบางประเภทอาจก่อให้เกิดแก๊สพิษที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
) เกิดจากที่อยู่อาศัยหรืออาคารบ้านเรือน แหล่งที่อยู่อาศัยเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดปัญหามลพิษทางอากาศได้ โดยเกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงเพื่อประกอบอาหาร ส่งผลทำให้เกิดขี้เถ้าเขม่า ควัน หรือแก๊สต่าง ๆ ฟุ้งกระจายในอากาศ
. สารมลพิษทางอากาศที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ
สารมลพิษทางอากาศหรือสิ่งที่เจอปนอยู่ในอากาศสกปรกหรือเป็นพิษที่ส่งผลทำลายสุขภาพ มีดังนี้
) คาร์บอนมอนอกไซด์ (Carbonn monoxide,CO)เป็นแก๊สที่ไม่มีกลิ่น ไม่มีสี ติดไฟได้ส่วนใหญ่เกิดจากการเผาไหม้ เช่น การเผาไหม้ของเครื่องยนต์ และเป็นแก๊สที่มีอันตรายต่อสุขภาพเป็นอย่างมาก เพราะเมื่อสูดดมแก๊สคาร์บอนมอนอกไซด์เข้าไปยังปอดจะไปรวมตัวกับเฮโมโกลบิน (haemoglobin) ของเม็ดเลือดแดงแทนออกซิเจน ส่งผลทำให้ร่างกายขาดออกซิเจนเกิดอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน และถ้าได้รับปริมาณมากอาจทำให้เสียชีวิตได้
) ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (Sulfur dioxide,SO)เป็นแก๊สไม่ติดไฟ ไม่มีสี แต่มีกลิ่นฉุนเกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงประเภทถ่านหิน น้ำมันปิโตรเลียม ถ่านไม้ เมื่อสูดดมซัลเฟอร์ไดออกไซด์ เข้าสู่ร่างกาย จะเกิดการระคายเคืองของระบบทางเดินหายใจ เกิดโรคหลอดลมอักเสบ โรคปอด หรือโรคมะเร็ง
) ออกไซด์ของไนโตรเจน เช่น ไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO) เป็นแก๊สที่มีกลิ่นฉุน เมื่อสูดดมทำให้เกิดอาการหลอดลมอักเสบ และปอดอักเสบ หรืออาจทำให้เกิดเนื้องอกในปอดได้ ไนตริกออกไซด์ (NO) มีกลิ่นฉุนมาก ทำลายเยื้อจมูกและหลอดลม ขัดขวางการได้รับออกซิเจนของเม็ดเลือดแดง
) ฝุ่นและละออกที่มีขนาดเล็ก ฝุ่นและละอองที่มีอยู่ในอากาศรอบ ๆ ตัว มีทั้งที่มีสภาพเป็นของแข็งและของเหลว มีขนาดที่แตกต่างกันไปตั้งแต่ขนาดเล็กมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น และขนาดใหญ่ที่สามารถมองเห็นได้ ซึ่งฝุ่นละอองที่ล่องลอยอยู่ในอากาศนั้นเกิดจากการก่อสร้าง ฝุ่นดินทรายควันจากท่อไอเสียรถยนต์ หรือเกิดจากการจราจร หรือโรงงานอุตสาหกรรม และเมื่อสูดเอาฝุ่นละอองเข้าสู่ปอดแล้ว ส่งผลทำลายสุขภาพเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็ก ซึ่งสามารถผ่านเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจส่วนล่างและถุงลมปอด ส่งผลทำให้เกิดโรคทางเดินหายใจ โรคปอดเกิดการระคายเคืองและทำลายเยื่อหุ้มปอด หรืออาจเกิดพังผืดและเป็นแผลในปอด ทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานของปอดลดลง
) ควันดำและควันขาว ควันดำคือ อนุภาคของคาร์บอน มีลักษณะเป็นผงเขม่าเล็ก ๆ ที่เหลือจากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ดีเซล เมื่อสูดดมเข้าสู่ร่างกายแล้วจะไปสะสมในถุงลมปอดเป็นสารทำให้เกิดโรคมะเร็ง ส่วนควันขาว เกิดจากเครื่องยนต์ที่ไม่ได้รับการบำรุงรักษา เมื่อหายใจเอาควันขาวเข้าสู่ปอดจะส่งผลทำให้หลอดลมอักเสบ นอกจากนี้ ยังส่งผลต่อนัยน์ตาของคนทำให้เกิดอาการแสบแลระคายเคืองอีกด้วย
) ตะกั่ว ตะกั่วเป็นสารมลพิษที่ส่งผลทำลายระบบประสาท ถ้าสูดดมเอาตะกั่วเข้าสู่ร่างกายจะส่งผลเสียต่อสุขภาพ โดยตะกั่วที่มักพบอยู่ในบรรยากาศนั้นเกิดจากสารตะกั่วที่ใช้ผสมอยู่ในน้ำมันเบนซินของเครื่องยนต์

. มาตรฐานคุณภาพอากาศ
มาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศโดยทั่วไป กำหนดโดยกรมควบคุมมลพิษ กระทรวง
ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งกำหนดขึ้นเพื่อใช้เป็นแนวทางในการควบคุมคุณภาพอากาศของประเทศไทยในพื้นที่ต่าง ๆ ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่ไม่ก่อให้เกิดปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชากรโดยรวม
. ผลกระทบของมลพิษทางอากาศที่มีต่อสุขภาพ
มลพิษทางอากาศมีอันตรายต่อสุขภาพ และระบบต่าง ๆ ของร่างกายสรุปได้ ดังนี้
) ระบบทางเดินหายใจ อากาศที่เป็นพิษเข้าสู่ร่างกาย จะผ่านระบบทางเดินหายใจ อาจส่งผลให้จมูก คอ หลอดลม และปอด เกิดการอักเสบ อาจทำให้เป็นมะเร็งที่ปอด และตายได้
) ระบบไหลเวียนของเลือด พิษจากสารตะกั่วจะส่งผลให้เลือดจาก แก๊สคาร์บอนมอนอกไซด์จะรวมตัวกับเฮโมโกลบิน ส่งผลให้ร่างกายขาดออกซิเจน เกิดอาการวิงเวียนศีรษะ เป็นลมหมดสติ ถ้าสะสมในร่างกายนานทำให้เสียชีวิตได้
) ระบบประสาท พิษจากสารตะกั่วในอากาศเมื่อเข้าสู่ร่างกาย จะทำลายระบบประสาทอาจทำให้เป็นอัมพาต ปัญญาอ่อน และตายได้
) ระบบอวัยวะสืบพันธุ์ สารกัมมันตรังสีจะส่งผลให้เด็กที่อยู่ในครรภ์มารดาคลอดออกมามีร่างกายผิดปกติ พิษจากสารตะกั่วส่งผลให้เซลล์สืบพันธุ์ผิดปกติ หรือเป็นหมันได้
) ผิวหนัง อาจเกิดการระคายเคือง อักเสบ เป็นผดผื่นคันหรือเป็นลมพิษ ทั้งนี้เนื่องมาจากแพ้สารพิษ ฝุ่นละออง เกสรดอกไม้ ขนสัตว์ หรือสารแปลกปลอมอื่น ๆ ที่ปะปนอยู่ในอากาศ
) ตา ฝุ่นละออง หรือสารพิษต่าง ๆ ที่เข้าตา จะทำให้เยื่อนัยน์ตาเกิดอาการระคายเคืองหรืออักเสบ เป็นผลให้ตาบวม ตาแดง
) สุขภาพจิต นอกจากอากาศเป็นพิษจะส่งผลให้สุขภาพร่างกายเสื่อมโทรมแล้ว ยังมีผลกระทบต่อสุขภาพจิตด้วย โดยเฉพาะกลิ่นและฝุ่นละอองในอากาศมักจะส่งผลให้คนเราเกิดความหงุดหงิด ตึงเครียดภายในจิตใจ จิตใจไม่เป็นสุข เป็นต้น
. แนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ
แนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ มีดังนี้
) กำหนดให้มีการบังคับใช้มาตรฐานคุณภาพอากาศ โดยเฉพาะในบริเวณที่เป็นแหล่งเกิดมลพิษ เช่น โรงงานอุตสาหกรรม ย่านที่มีการจราจรหนาแน่น
) สำรวจและตรวจสอบคุณภาพอากาศตามแหล่งต่าง ๆ เป็นประจำ เพื่อเฝ้าระวัง และควบคุมไม่ให้เกิดมลพิษทางอากาศทีสูงเกินมาตรฐาน
) ควบคุมแหล่งกำเนิดของมลพิษทางอากาศ เช่น มลพิษที่เกิดจากการจราจรขนส่ง ควรหมั่นดูแลและรักษาสภาพเครื่องยนต์ให้อยู่ในสภาพที่ดี ลดการใช้สารปราบศัตรูพืช และปุ๋ยเคมีของภาคเกษตรกรรม โรงงานอุตสาหกรรมต้องมีกระบวนการบำบัดอากาศเสียก่อนปล่อยสู่บรรยากาศภายนอก
) ช่วยกันปลูกต้นไม้ ดูแลรักษาต้นไม้ เพราะต้นไม้จะช่วยกรองอากาศเสียให้เป็นอากาศดีได้
) กำจัดขยะมูลฝอยและสิ่งปฏิกูลให้ถูกหลักสุขาภิบาล เพื่อลดปัญหาการเกิดมลพิษทางอากาศ
) ประชาชนทุกคนควรให้ความร่วมมือกับหน่วยงานราชการหรือหน่วยงานอื่น ๆ ในการควบคุมมลพิษทางอากาศ
) หน่วยงานราชการหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับเรื่องปัญหามลพิษทางอากาศแก่ประชาชนทั่วไป
ปัญหามลพิษทางน้ำ
น้ำ เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ ที่มนุษย์นำมาใช้เพื่อการดำรงชีวิต โดยนำมาใช้บริโภค
อุปโภค นำมาใช้ในการทำการเกษตร การประมง การคมนาคมขนส่ง หรือแม้แต่เพื่อการพักผ่อนทางจิตใจ โดยใช้แหล่งน้ำหรือแม่น้ำตามธรรมชาติที่มีความสวยงามเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ดังนั้น ทรัพยากรน้ำควรมีความสะอาด ปราศจากความเป็นพิษที่บั่นทอนสุขภาพ และคุณภาพชีวิตของมนุษย์
มลพิษทางน้ำ หมายถึง น้ำที่เสื่อมคุณภาพหรือมีคุณสมบัติเปลี่ยนแปลงไป อันเนื่องมาจาก
มีสิ่งแปลกปลอม เช่น ไขมัน น้ำมัน สารเคมี สารพิษทางการเกษตร และเชื้อโรคต่าง ๆ จนทำให้น้ำเกิดความเสียหาย ไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได
.  แหล่งกำเนิดมลพิษทางน้ำ
แหล่งกำเนิดของมลพิษทางน้ำที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ มีดังนี้
) แหล่งน้ำเสียจากชุมชน สามารถแบ่งย่อยได้เป็น แหล่งน้ำเสียจากบ้านพักอาศัยสถานที่ทำการต่าง ๆ เช่น สถานศึกษา สำนักงาน โรงพยาบาล และแหล่งน้ำเสียจากสถานที่ที่ใช้ในการพักผ่อนหย่อนใจ เช่น โรงแรม บ้านพักตากอากาศ และยังรวมถึงแหล่งน้ำเสียจากธุรกิจการค้า เช่น ร้านขายอาหาร โรงภาพยนตร์ ฯลฯ โดยน้ำเสียจากชุมชนนั้นเกิดจากการใช้ห้องน้ำ ห้องส้วม การประกอบอาหาร การซักล้างเครื่องมือ เครื่องใช้ เครื่องนุ่งห่ม หรืออุปกรณ์ต่างๆ
) แหล่งน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม ได้แก่ น้ำเสียที่เกิดจากขบวนการผลิต การล้างวัตถุดิบ น้ำล้างวัสดุอุปกรณ์ น้ำเสียจากกระบวนการหล่อเย็นของอุปกรณ์ทำความร้อน เป็นต้น ซึ่งน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมมักจะมีสารพิษพวกสารอินทรีย์ สารอนินทรีย์ สารเคมี และโลหะหนัก ที่เป็นอันตรายต่อชีวิตปนเปื้อนอยู่จำนวนมาก
) น้ำเสียจากการเกษตรกรรม ได้แก่ น้ำเสียจากฟาร์มเลี้ยงสัตว์ นากุ้ง บ่อเลี้ยงปลา หรือน้ำเสียจากการเพราะปลูก ซึ่งน้ำเสียที่เกิดจากการเกษตรนั้นมักถูกปนเปื้อนด้วยมูลสัตว์ อาหารสัตว์ สารปราบศัตรูพืช หรือปุ๋ยเคมี เมื่อลงสู่แหล่งน้ำโดยไม่มีการบำบัดที่ถูกต้องย่อมเป็นอันตรายต่อพืชและสัตว์น้ำ รวมทั้งคนที่นำน้ำมาใช้
) น้ำเสียจากแหล่งอื่น ๆ ได้แก่ น้ำเสียจากสถานที่กำจัดขยะมูลฝอย น้ำเสียจากกิจกรรมเหมืองแร่ น้ำเสียจากการก่อสร้างและรื้อถอน เป็นต้น
. สารมลพิษในน้ำที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ
สารมลพิษในน้ำที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ มีดังนี้
) สารอินทรีย์ สารอินทรีย์ในแหล่งน้ำมักเกิดจากขยะมูลฝอยพวกเศษอาหารไขมัน และน้ำเสียที่ปล่อยทิ้งจากบ้านเรือนหรือโรงงานอุตสาหกรรม เมื่อสารอินทรีย์ดังกล่าวถูกระบายสู่แหล่งน้ำในปริมาณมากจะทำให้ค่าออกซิเจนในน้ำลดลง ส่งผลให้น้ำเน่าเสีย สัตว์น้ำตาย มนุษย์ไม่สามาระนำน้ำมาใช้อุปโภคบริโภคได้ตามปกติเพราะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ อีกทั้งยังมีกลิ่นเหม็นรบกวน สร้างความเครียดทางจิตใจด้วย
) เชื้อโรค น้ำเสียหรือของเสียที่ปล่อยลงสู่แหล่งน้ำ โดยเฉพาะน้ำเสียและของเสียที่มาจากบ้านเรือน โรงพยาบาล หรือชุมชนที่มีการบำบัดที่ไม่ได้มาตรฐาน ย่อมทำให้มีการปนเปื้อนของเชื้อโรคต่างๆ ซึ่งอาจปะปนมากับอุจจาระ และสิ่งปฏิกูล เช่น ไวรัส แบคทีเรีย พยาธิ ซึ่งล้วนแต่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคที่มีน้ำเป็นสื่อกลาง เช่น โรคตับอักเสบ โรคอหิวาตกโรค โรคอุจจาระร่วง โรคผิวหนัง เป็นต้น
) โลหะหนัก เช่น แคดเมียม ปรอท โครเมียม ตะกั่ว สารหนู สังกะสี ฟลูออไรต์ ที่มักเกิดจากกระบวนการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรม หรือจากสารปราบศัตรูพืชทางการเกษตร เมื่อถูกปนเปื้อนในแหล่งน้ำจะก่อให้เกิดอันตรายต่อมนุษย์ที่บริโภคสัตว์น้ำที่มีการสะสมของโลหะหนักเหล่านั้นในปริมาณที่สูง เช่น เกิดโรคมินามาตะ โรคอิไตอิไต ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากบริโภคปลาที่มีสารปรอทและแคดเมียมปนเปื้อน นอกจากนี้ สารโลหะหนักในน้ำยังอาจส่งผลทำให้มนุษย์ที่นำน้ำมาบริโภคได้รับผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว ก่อให้เกิดโรคต่าง ๆ เช่น โรคมะเร็ง โรคระบบประสาท เป็นต้น
. ผลกระทบของมลพิษทางน้ำที่มีต่อสุขภาพ
มลพิษทางน้ำมีอันตรายต่อสุขภาพ และระบบต่าง ๆ ของร่างกาย มีดังนี้
) ระบบทางเดินอาหาร หากประชาชนนำน้ำที่มีมลพิษไปดื่มอาจทำให้เกิดโรค เช่น อหิวาตกโรค โรคบิด โรคอุจจาระร่วง ไข้รากสาดน้อย หรือไข้ไทฟอยด์ เป็นต้น
) ระบบประสาท น้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมที่มีสารพิษเจือปน เช่น สารปรอท ซึ่งเป็นสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง ในประเทศญี่ปุ่นที่อ่าวมินามาตะคนเป็นโรคมินามาตะ สาเหตุเกิดจากผู้ป่วยรับประทานปลาที่มีสารปรอทสูง ทำให้มีอาการเกี่ยวกับระบบประสาท คือ มือและเท้าชา ถ้าเป็นมาก ๆ อาจถึงขั้นทุพพลภาพและตายได้
) ผิวหนัง น้ำเสียเป็นอันตรายต่อผิวหนังเป็นอย่างมาก ถ้านำมาอาบชำระล้างกาย อาจจะทำให้เป็นโรคผิวหนังชนิดต่าง ๆ ได้
) ไต สารพิษในน้ำเมื่อเข้าสู่ร่างกาย ร่างกายจะต้องขับออกโดยผ่านไต ทำให้มีการสะสมตกค้างอยู่ในไตและกระเพาะปัสสาวะ เกิดการอักเสบ เป็นนิ่วที่ไตและกระเพาะปัสสาวะ
) สุขภาพจิต น้ำเสีย น้ำเน่า หรือน้ำโสโครก มักจะส่งกลิ่นเหม็นและมีสภาพไม่น่ามองทำให้คนเราเกิดความหงุดหงิด รำคาญ และเกิดความตึงเครียดขึ้นได้
. แนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษทางน้ำ
แนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษทางน้ำ มีดังนี้
) กำหนดค่ามาตรฐานคุณภาพน้ำ เพื่อการควบคุมและอนุรักษ์คุณภาพน้ำให้อยู่ในมาตรฐานที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
) ควบคุมการกำจัดน้ำเสียจากแหล่งกำเนิดน้ำเสียต่าง ๆ เช่น บ้านพักอาศัย โรงงานอุตสาหกรรม สถานประกอบการ ให้มีการบำบัดด้วยวิธีที่ได้มาตรฐานก่อนปล่อยสู่แหล่งน้ำตามธรรมชาติ
) ประชาชนควรให้ความร่วมมือในการอนุรักษ์แหล่งน้ำ โดยไม่ทิ้งขยะมูลฝอย สิ่งปฏิกูลหรือสารเคมีลงแหล่งน้ำ รวมทั้งใช้น้ำอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพมากที่สุด
) ไม่ตัดไม้ทำลายป่าอันเป็นแหล่งต้นน้ำละธาร เพราะเมื่อป่าไม้ถูกทำลายจะทำให้พื้นดินพังทลายได้ง่าย เมื่อฝนตกลงมาน้ำฝนก็จะกัดเซาะ พัดพาอินทรียวัตถุที่ปกคลุมผิวดิน ตะกอนดิน และสิ่งต่าง ๆ ลงสู่แหล่งน้ำทำให้น้ำสกปรก ตื้นขึ้น
) ลดการใช้สารเคมีต่าง ๆ ให้น้อยที่สุดเพราะสารเคมีที่ใช้นั้นเมื่อถูกน้ำฝนชะล้างลงสู่แหล่งน้ำ จะกลายเป็นปัญหามลพิษทางน้ำต่อไป
) ประชาชนควรให้ความร่วมมือกับทางราชการหรือหน่วยงานอื่น ๆ ในการพัฒนาแหล่งน้ำหรือกำจัดน้ำเสีย
ปัญหามลพิษทางเสียง
เสียง เป็นสิ่งแวดล้อมที่ไม่สามารถมองเห็นได้ แต่สามารถรับฟังได้ เพราะเสียงเป็น
พลังงานที่เกิดจากการสั่นสะเทือน และเคลื่อนตัวของอณูของก๊าซในบรรยากาศ ผ่านมากระทบที่แก้วหูทำให้ได้ยินเสียง ดังนั้น เสียงที่มีคุณภาพเท่านั้นที่ส่งผลดีต่อสุขภาพ โดยเสียงที่รับฟังจะต้องมีความดังของเสียงที่พอเหมาะ ไม่ก่อให้เกิดความรำคาญรบกวนโสตประสาท หรือมีผลทำลายการได้ยินของมนุษย์
มลพิษทางเสียง หมายถึง เสียงที่ไม่พึงปรารถนา ก่อให้เกิดความรำคาญและเป็นอันตรายต่อ สุขภาพร่างกาย และเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงานได้แก่ เสียงจากเครื่องยนต์ เสียงเครื่องจักรในโรงงานอุตสาหกรรม
. แหล่งกำเนิดมลพิษทางเสียง
แหล่งกำเนิดมลพิษทางเสียงที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ มีดังนี้
) จากการจราจร ทั้งการจราจรทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ ซึ่งเกิดจากเสียงเครื่องยนต์ของยวดยานพาหนะต่าง ๆ
) จากแหล่งชุมชนที่อยู่อาศัย หรือธุรกิจค้าขาย แหล่งสถานบันเทิง และสถานเริงรมย์ต่าง ๆ ที่มักเปิดเครื่องเสียงดังเกิดค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ คือ ๘๕ เดซิเบล โดยเฉพาะดิสโกเธค
) จากแหล่งอุตสาหกรรม เช่น โรงงานทอผ้า โรงงานทำเฟอร์นิเจอร์ โรงงานถลุงเหล็กซึ่งมักเกิดเสียงดังรบกวนจากเครื่องจักร และเครื่องยนต์ที่ใช้ในกระบวนการผลิต หรือเกิดเสียงรบกวนจากการก่อสร้าง การขุดเจาะคอนกรีต การตอกเสาเข็ม เป็นต้น
. ระดับความดังของเสียงกับอันตรายที่เกิดขึ้น
ระดับความดังของเสียงมีผลกระทบต่อสุขภาพ ถ้าระดับความดังของเสียงสูงเกินค่า มาตรฐานย่อมเป็นอันตรายต่อระบบการได้ยินและสุขภาพโดยทั่วไป
เสียงที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพนั้น อาจจำแนกได้ ๒ ชนิด ดังนี้
) เสียงธรรมดา หมายถึง เสียงที่ฟังแล้วไม่รู้สึกรำคาญหรือดังอึกทึกจนเกินไป ฟังแล้วเกิดความรู้สึกไพเราะ สบายใจ เช่น เสียงดนตรีเบา ๆ เสียงพูดคุยธรรมดา เป็นต้น
) เสียงรำคาญ หมายถึง เสียงที่ฟังแล้วก่อให้เกิดความรำคาญ ไม่ไพเราะ มีผลกระทบกระเทือนด้านจิตใจ ทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง และหากรับฟังมาก ๆ อาจทำให้หูเสื่อมพิการ และหูหนวกได้
เสียงรำคาญที่ทำให้เกิดมลพิษทางเสียงมีลักษณะ ดังนี้
) เป็นเสียงที่ดังมาก คือ มีความดังเกิน ๘๕ เดซิเบล (decibel) ขึ้นไป ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดไว้ว่า เสียงที่เป็นอันตราย หมายถึง เสียงที่ดังเกิน ๘๕ เดซิเบล ที่ทุกความถี่ของคลื่นเสียง และต้องสัมผัสเสียงนั้นอยู่นานไม่น้อยกว่า ๑ ชั่วโมง
) เสียงนั้นมีความถี่สูง เช่น เสียงแหลมจะมีความถี่กว่าเสียงทุ้ม เป็นต้น
) มีระยะเวลาที่เสียงปรากฏอยู่นาน เสียงที่ปรากฏอยู่นานย่อมเป็นเสียงที่สร้างความรำคาญให้กับผู้ฟัง และเป็นผลเสียต่อสุขภาพ
นักเรียนสามารถตรวจสอบระดับความดังของเสียงจากแหล่งกำเนิดเสียงต่าง ๆ ว่าอยู่ในระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และระบบการได้ยินได้ด้วยวิธีการ ดังนี้
. พูดคุยกับเพื่อนในระยะห่างประมาณหนึ่งช่วงแขนแล้วไม่ได้ยินและไม่เข้าใจ แสดงว่าบริเวณนั้นมีเสียงดังถึงขั้นอันตราย ให้หลบออกจากบริเวณนั้นทันที
. ตรวจวัดระดับเสียงด้วยเครื่องมือมาตรฐานที่แหล่งกำเนิดเสียง ซึ่งองค์การพิทักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐอเมริกา (USEPA : United States Environmental Protection Agency) เสนอแนะว่า ผู้ที่ได้รับฟังเสียงเฉลี่ยเกิน ๗๐ เดซิเบลอย่างต่อเนื่อง ๒๔ ชั่วโมง เป็นระยะเวลานานจะกลายเป็นคนหูตึงได้
. ผลกระทบของมลพิษทางเสียงที่มีต่อสุขภาพ
มลพิษทางเสียงมีอันตรายต่อสุขภาพและระบบการได้ยิน ดังนี้
) อันตรายต่อระบบการได้ยิน การได้ฟังเสียงที่ดังเป็นเวลานาน ๆ ส่งผลทำลายเซลล์ประสาทของหู และก่อให้เกิดผลเสียต่อการได้ยิน ดังนี้
() หูตึงหรือหูอื้อชั่วคราว คืออาการที่เกิดขึ้นเนื่องจากเสียงที่ดังนั้นยังไม่ดังมากและนานพอที่จะทำลายเซลล์ประสาทของหูได้อย่างถาวร
() หูตึงหรือหูหนวกอย่างถาวร คืออาการที่เกิดขึ้นเนื่องจากได้ฟังเสียงที่ดังมากเกินไปจนทำลายเซลล์ประสาทหูไปอย่างถาวร และไม่สามารถกลับมาได้ยินเหมือนเดิม
() หูตึงหรือหูอื้อแบบเฉียบพลัน คือ อาการหูหนวกที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน ซึ่งเกิดจากการได้รับฟังเสียงที่ดังเกินไปจนทำให้แก้วหูฉีกขาด เช่น เสียงระเบิด เสียงประทัด
) อันตรายต่อสุขภาพทั่วไปและจิตใจ เช่น เสียงที่ดังเกินไปจะรบกวนการนอนหลับและการพักผ่อน ส่งผลทำให้หงุดหงิด มีความเครียด อีกทั้งยังรบกวนการทำงาน ทำให้งานมีประสิทธิภาพด้วยลง และเสียงดังมาก ๆ ยังทำให้ความดันเลือดสูง เกิดโรคหัวใจ ชีพจรเต้นผิดปกติ เกิดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ และอาจทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารได้
. แนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษทางเสียง มีดังนี้
แนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษทางเสียง มีดังนี้
) กำหนดและบังคับใช้มาตรฐานระดับความดังในสถานที่ต่าง ๆ ไม่ให้เกินค่ามาตรฐานเพื่อลดอันตรายของเสียงที่อาจทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพและการได้ยิน
) ควบคุมแหล่งกำเนิดเสียง เช่น ควบคุมเสียงที่เกิดจากยานพาหนะ โดยผู้ใช้รถทุกคันต้องตรวจสอบสภาพเครื่องยนต์ของตนให้อยู่ในสภาพที่ดี ไม่ดัดแปลงท่อไอเสียให้เกิดเสียงดังรบกวนผู้อื่น โรงภาพยนตร์และสถานบันเทิงต่าง ๆ ไม่ควรเปิดเสียงจากเครื่องเสียงที่ดังเกินค่ามาตรฐาน รวมทั้งโรงงานอุตสาหกรรมควรเลือกใช้เครื่องจักร หรือเครื่องมือต่าง ๆ ที่เกิดเสียงดังรบกวนน้อยที่สุด
) สำรวจ และตรวจสอบตามแหล่งกำเนิดเสียงต่าง ๆ เป็นประจำ เพื่อเฝ้าระวังและควบคุมไม่ให้เกิดมลพิษทางเสียง
) หลีกเลี่ยงการอยู่ในแหล่งที่มีเสียงดังเป็นเวลานาน ๆ หรือถ้าจำเป็นต้องอยู่หรือต้องทำงานที่เกี่ยวข้องกับเสียงดังมาก ๆ ควรใช้อุปกรณ์ป้องกันหู เช่น ที่ครอบหู ที่อุดหู เพื่อลดอันตรายจากความดังของเสียง
ข้อมูล จากเว็บไซต์ กลุ่มสาระสุขศึกษาและพลศึกษา โรงเรียนนครสวรรค์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น