วันอังคารที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

การบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา

“Sport Injury”
การบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา
การเล่นกีฬาในปัจจุบันกำลังได้รับความนิยมจากประชาชนมากขึ้น มีการจัดแข่งขันทั้งในระดับนักเรียน อุดมศึกษา ประชาชนทั่วไป และระดับชาติ ผลจากการแข่งขันประการหนึ่งที่เกิดขึ้นก็คือ การได้รับบาดเจ็บจากการกีฬาในแง่ต่างๆมากมาย ทั้งที่เกิดจากอุบัติเหตุ เกิดจากการฝึกซ้อมมากเกินไป หรือแม้แต่ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ในการปฐมพยาบาล ทำให้นักกีฬาผู้นั้นมีประสิทธิภาพลดลง เล่นกีฬาได้ไม่เต็มที่ เกิดเป็นโรคเรื้อรังประจำตัวทำให้เล่นกีฬาไม่ได้ หรือแม้แต่จะออกกำลังกายก็ยังทำไม่ได้ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าเสียใจมาก
                การเล่นกีฬาหรือออกกำลังกาย เป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวันเพราะจะช่วยให้ร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์และมีสุขภาพดีขึ้นได้ แต่ถ้ามีการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้อง ขาดความระมัดระวังก็อาจเกิดการบาดเจ็บและอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้เช่นกัน ดังนั้น การมีความรู้ ความเข้าใจ เจตคติ และการปฏิบัติที่ถูกต้องต่อการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นจากการเล่นกีฬาหรือออกกำลังกาย จะช่วยให้การบาดเจ็บหายเร็วขึ้นและสามารถกลับไปเล่นกีฬานั้นๆได้อีกด้วยความปลอดภัย

การป้องกัน และการดูแลอาการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา

                การบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกๆส่วนของร่างกาย การบาดเจ็บที่เกิดขึ้นนั้น มีตำแหน่งที่เกิดแตกต่างกัน แล้วแต่การใช้ส่วนหรืออวัยวะของร่างกายหนักไปในทางใด การบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา ทำให้เกิดการจำกัดการเคลื่อนไหวและโอกาสของนักกีฬา การบาดเจ็บแม้เพียงเล็กน้อยก็อาจทำให้นักกีฬาต้องงดการฝึกซ้อมหรือไม่สามารถเข้าร่วมการแข่งขันได้ยิ่งถ้าเป็นการบาดเจ็บที่รุนแรงด้วยแล้วอาจจะหมายถึงจุดจบแห่งอนาคตของการเล่นกีฬานั้นๆทีเดียว การบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาบางชนิด นักกีฬาหรือผู้ฝึกสอนสามารถรักษาพยาบาลเองได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีความรู้ทางการแพทย์มากนัก แต่การบาดเจ็บบางชนิดจำเป็นต้องให้แพทย์เป็นผู้บำบัดรักษาเท่านั้น
                การปฐมพยาบาลและการรักษาเป็นเรื่องสำคัญมาก โดยเฉพาะการปฐมพยาบาลที่ถูกวิธีจะช่วยทำให้การรักษาง่ายขึ้น ช่วยลดอันตรายและภาวะแทรกซ้อนลงได้
ลักษณะและชนิดของการบาดเจ็บจากการกีฬา
                การบาดเจ็บจากการกีฬาที่พบบ่อยแบ่งเป็นชนิดได้ดังต่อไปนี้
1.      บาดเจ็บที่ผิวหนังและชั้นไขมันใต้ผิวหนัง   โดยปกติผิวหนังจะประกอบขึ้นด้วย 3 ชั้นคือ ชั้นหนังกำพร้า ชั้นหนังแท้ และชั้นไขมันใต้ผิวหนัง  ผิวหนังทำหน้าที่ห่อหุ้มร่างกายเป็นด่านแรกที่ช่วยป้องกันอันตรายมิให้เกิดขึ้นกับอวัยวะภายใน ช่วยระบายความร้อน การบาดเจ็บที่เกิดกับผิวหนังมีดังนี้
1.1.   ผิวหนังถลอก (Abrasion) เป็นการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นบริเวณผิวหนัง ทำให้บางส่วนของผิวหนังหลุดออกไป บางครั้งอาจลึกถึงชั้นหนังแท้หรือชั้นไขมันใต้ผิวหนัง มีความเจ็บปวด เลือดจะไหลออกซึมๆ การหายเกิดขึ้นได้รวดเร็ว ถ้าไม่มีการติดเชื้อโรคแทรกซ้อน  สาเหตุ มักจะมาจากการเสียดสี เช่น ลื่นล้มผิวหนังไถลไปบนพื้น  การปฐมพยาบาลโดยถูสบู่และล้างออกด้วยน้ำสะอาด ทายาใส่แผลสด พยายามให้แผลแห้งไว้โดยไม่จำเป็นต้องปิดแผล หากไม่มีการติดเชื้อ แผลจะตกสะเก็ดและหลุดออกเองตามธรรมชาติ ภายใน 7 8 วัน

1.2.   ผิวหนังพอง (Blisters) เป็นการบาดเจ็บจากการแยกของชั้นผิวหนังด้วยกันเองออกไป โดยชั้นระหว่างที่ผิวหนังแยกออกจะมีน้ำเหลืองคั่งจากเซลล์ข้างเคียง  สาเหตุเกิดจากการเสียดสีซ้ำๆกัน มักจะเกิดที่มือหรือเท้า  การปฐมพยาบาลโดยทำความสะอาดด้วยน้ำสบู่  เช็ดด้วยแอลกอฮอล์ ใช้เข็มที่สะอาดปราศจากเชื้อโรคเจาะเอาน้ำออกโดยไม่จำเป็นต้องลอกหนังส่วนที่พองออก ทายารักษาแผลสดแล้วปิดพลาสเตอร์ หมั่นรักษาความสะอาดและให้บริเวณนั้นแห้งอยู่เสมอ หลีกเลี่ยงการเสียดสีซ้ำจนกว่าแผลจะหาย ซึ่งกินเวลาประมาณ 7 โ€“ 10 วัน
1.3.   ฟกช้ำ (Contusion) เกิดจากมีแรงกระแทกโดยตรง ซึ่งโดยมากมาจากวัตถุแข็ง ไม่มีคม ทำให้เกิดเลือดคั่งอยู่และไม่สามารถซึมออกสู่เนื้อเยื่อข้างเคียงได้ อาจมีอาการเจ็บปวด บวมร่วมด้วย   การปฐมพยาบาลโดยการประคบเย็นโดยทันทีพร้อมกับกดเบาๆตรงบริเวณฟกช้ำ ความเย็นจะทำให้หลอดเลือดหดตัว ทำให้เลือดหยุดและบรรเทาความเจ็บปวดได้ อาการฟกช้ำนี้จะหายเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับปริมาณของเลือดที่ออกในชั้นใต้ผิวหนัง  หลังจาก 24 โ€“ 48 ชั่วโมงไปแล้ว จึงใช้ความร้อนประคบจะช่วยให้ก้อนเลือดสลายตัวได้เร็วขึ้น
1.4.   ผิวหนังฉีกขาด (Laceration) เป็นการที่ผิวหนังถูกทำลายจนเห็นชั้นไขมันใต้ผิวหนัง บาดแผลคล้ายโดนของมีคมบาดหรือฉีกขาด อาจมีการฟกช้ำร่วมด้วยสาเหตุมักจะถูกของแข็งไม่มีคมกระแทกอย่างรุนแรง  การปฐมพยาบาลโดยการห้ามเลือดก่อน แล้วทำความสะอาดบาดแผล ปิดบาดแผลด้วยผ้าสะอาดแล้วนำส่งแพทย์ทันที
1.5.   แผลถูกแทง (Puncture Wound) ลักษณะของบาดแผลชนิดนี้ ปากแผลจะเล็กแต่ลึก อาจทำให้เกิดอันตรายต่ออวัยวะภายใน ทำให้มีการตกเลือด อาจมีการติดเชื้อร่วมด้วยโดยเฉพาะเชื้อบาดทะยัก สาเหตุเกิดจากถูกของแหลมทิ่มตำเช่น ตะปู เศษไม้ หนาม ฯลฯ การปฐมพยาบาลทำโดยการห้ามเลือด ทำความสะอาดบาดแผลและนำส่งแพทย์เพื่อการรักษาที่ถูกต้องต่อไป
1.6.   แผลบาด (Incision) ลักษณะของบาดแผล ขอบแผลเรียบยาว บริเวณข้างเคียงไม่ได้รับการกระทบกระเทือน แผลจะแยกออกจากกัน สาเหตุเกิดจากวัตถุมีคม  การปฐมพยาบาลโดยการห้ามเลือด ถ้าบาดแผลไม่ยาวมาก อาจใช้นิ้วมือที่สะอาดกดบาดแผลก็ได้ แล้วทำความสะอาด ทายาใส่แผลสด  แต่ถ้าบาดแผลลึกและยาว ต้องทำการห้ามเลือดและนำส่งแพทย์เพื่อการรักษาที่ถูกต้องต่อไป
1.7.   ผิวไหม้จากแสงแดด (Sunburn) เกิดจากการเล่นกีฬากลางแจ้ง ผิวหนังจะสัมผัสแสงแดดโดยตรง ความรุนแรงอาจแตกต่างกันตั้งแต่เกิดจุดแดงเล็กน้อยที่บริเวณผิวหนัง ไปจนกระทั่งเกิดเป็นตุ่มพองสร้างความเจ็บปวดและจะคงลักษณะนี้ได้หลายชั่วโมงหรือหลายวัน จนผิวชั้นนอกๆหลุดออกมา ตุ่มพองจะมีการตกสะเก็ดหรือบางรายอาจเกิดแผลเป็นก็ได้ การป้องกันทำได้โดยหลีกเลี่ยงการถูกแสงแดดในช่วงเวลา 10.00 โ€“ 14.00 น. สวมเสื้อผ้าที่ช่วยป้องกันแสงแดด หรือใช้ครีมกันแดด                   การปฐมพยาบาลโดยทายารักษาผิวไหม้จากความร้อน ถ้ามีอาการปวดควรรับประทานยาแก้ปวดหรือถ้าปวดมากๆควรรีบปรึกษาแพทย์
2.      การบาดเจ็บที่กล้ามเนื้อและเอ็นกล้ามเนื้อ  มีดังนี้
2.1.   ตะคริว (Cramp)  เกิดจากการเกร็งตัวชั่วคราวของกล้ามเนื้อ  ทำให้กล้ามเนื้อมัดนั้นแข็งเกร็งและมีอาการปวดจะเกิดขึ้นเป็นระยะเวลาไม่นานก็จะหายไปเอง แต่อาจเกิดเป็นซ้ำที่เดิมอีกก็ได้ ในบางครั้งกล้ามเนื้ออาจเป็นตะคริวพร้อมๆกันหลายๆมัดก็ได้ เกิดจากหลายสาเหตุเช่น ร่างกายขาดเกลือแร่ ฝึกซ้อมนานเกินไป สภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม รวมทั้งการใช้ผ้ายืดรัดบนกล้ามเนื้อค่อนข้างแน่นทำให้เลือดไหลเวียนไม่ดี  การป้องกันทำได้โดยพยายามหลีกเลี่ยงสาเหตุดังกล่าว การปฐมพยาบาลโดยการให้หยุดออกกำลังกายในทันที ให้ค่อยๆ เหยียดกล้ามเนื้อที่เป็นตะคริวอย่างช้าๆ นุ่มนวล ใช้ความร้อนประคบเพื่อกระตุ้นให้เลือดไหลเวียนไปยังบริเวณนั้นมากขึ้น
2.2.   กล้ามเนื้อบวม (Compartmental Syndrome)  เกิดจากการฝึกซ้อมหนักเกินไป ทำให้มีการคั่งของน้ำนอกเซลล์กล้ามเนื้อ ทำให้น้ำที่คั่งเกิดแรงดันเบียดมัดกล้ามเนื้อที่อยู่ข้างเคียง จะเกิดอาการบวมตึงที่กล้ามเนื้อ จะรู้สึกปวด ส่วนใหญ่จะพบที่กล้ามเนื้อน่อง  การปฐมพยาบาลโดยการหยุดฝึกซ้อมทันที แล้วใช้ความเย็นประคบเพื่อลดอาการปวด พันด้วยผ้ายืด และเวลาพักผ่อนให้ยกกล้ามเนื้อที่บวมอยู่สูงกว่าระดับหัวใจ
2.3.   กล้ามเนื้อฉีก (Strain)  มักพบที่กล้ามเนื้อต้นขาด้านหน้า ด้านหลัง และน่อง  แบ่งความรุนแรงออกเป็น 3 ระดับคือ
·         ระดับที่หนึ่ง  กล้ามเนื้อฉีกขาดเล็กน้อย    จะมีการบาดเจ็บเล็กน้อย อาจบวมหรือไม่บวมก็ได้ ปกติจะหายภายใน 3 วันโดยใช้ผ้ายืดพันยึดส่วนนั้นเอาไว้
·         ระดับที่สอง  กล้ามเนื้อฉีกปานกลาง    กล้ามเนื้อยังทำงานได้บ้าง จะมีอาการปวดบวม ต้องพันยึดด้วยผ้ายืดและใส่เฝือก โดยใช้เวลาประมาณ 3 สัปดาห์
·         ระดับที่สาม  กล้ามเนื้อฉีกขาดสมบูรณ์    กล้ามเนื้อไม่สามารถทำงานได้ บวมและปวดรุนแรง คลำดูจะพบรอยบุ๋มใต้ผิวหนัง จำเป็นต้องได้รับการรักษาโดยการผ่าตัดเพื่อเย็บต่อส่วนที่ขาด และใช้กายภาพบำบัดเข้าช่วย
สาเหตุของกล้ามเนื้อฉีก เกิดได้ 2 ทางคือ
1)      เกิดจากตัวกล้ามเนื้อเอง  เป็นการเพิ่มความตึงตัวต่อกล้ามเนื้อมากกว่าที่ตัวมันจะทนได้  ได้แก่ การอบอุ่นร่างกายไม่เพียงพอ ฝึกมากเกินไป กล้ามเนื้อยืดหยุ่นไม่ดี กล้ามเนื้อทำงานไม่สัมพันธ์กัน
2)      สาเหตุจากแรงกระทำภายนอก   ทำให้เกิดอันตรายได้ตั้งแต่ผิวหนัง ไขมันและเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังไปจนถึงกล้ามเนื้อ
การปฐมพยาบาลและบำบัดรักษากล้ามเนื้อฉีก แบ่งเป็น 2 ระยะคือ
1.      ระยะแรก  ภายใน 24 48 ชั่วโมง  ให้ใช้หลัก “RICE” ดังนี้
R  =  Rest  ให้พักโดยเฉพาะส่วนที่บาดเจ็บ
I   =  Ice   ใช้น้ำแข็งประคบส่วนที่บาดเจ็บ ครั้งละ 20 30 นาที วันละ 2 3 ครั้ง
C  =  Compression   พันกระชับส่วนนั้นด้วยม้วนผ้ายืด ควรใช้สำลีรองก่อน       หลักการพันคือพันจากส่วนปลายมาหาส่วนต้น (เวลานอนไม่ต้องพัน)
E  =  Elevation  ยกส่วนที่บาดเจ็บให้อยู่สูงกว่าระดับหัวใจ เพื่อช่วยให้เลือดไหลกลับหัวใจ เป็นการช่วยลดอาการปวดบวม
2.      ระยะที่สอง   นานเกิน 24 - 48 ชั่วโมง  ผู้บาดเจ็บเริ่มทุเลาแล้ว จะใช้ความร้อนและวิธีทางกายภาพบำบัด โดยใช้หลัก  “HEAT”  ดังนี้
H  =  Hot  ใช้ความร้อนประคบ  โดยเฉพาะความร้อนลึก(เป็นเครื่องมือทางกายภาพบำบัด) หรือใช้กระเป๋าน้ำร้อนก็ได้
E  =  Exercise  ลองขยับเขยื้อนส่วนที่บาดเจ็บดูเบาๆ เป็นการบริหารส่วนที่บาดเจ็บและทำการบีบนวดไปด้วย
A  =  Advanced Exercise  ระยะหลังๆ บริหารให้มากขึ้น อาจมีผู้ช่วยในการบริหารส่วนที่บาดเจ็บ หรือใช้อุปกรณ์ช่วยในการออกกำลังกาย
T  =  Training for Rehabilitation  เป็นการฝึกเพื่อช่วยฟื้นสภาพจากการบาดเจ็บให้กลับสู่สภาพปกติ ซึ่งจำเป็นต้องได้รับคำแนะนำจากแพทย์หรือนักกายภาพบำบัดโดยตรง
2.4.   กล้ามเนื้อระบม (Muscular Soreness) เกิดจากกำหนดการฝึก แบ่งเป็น 2 แบบคือ
ก.       การระบมแบบเฉียบพลัน (Acute Soreness)  ที่เกิดขึ้นระหว่างออกกำลังกายในทันทีทันใดภายหลังการออกกำลังกาย สาเหตุเกิดจากกล้ามเนื้อมีความตึงตัวสูง เลือดไหลไปเลี้ยงไม่พอ (Ischemia) ทำให้ไม่สามารถขจัดของเสียได้ทัน จะมีอาการเจ็บปวดในกล้ามเนื้อ
ข.      การระบมที่เกิดขึ้นภายหลัง (Delayed Soreness)  เป็นการระบมที่เกิดขึ้นหลังจากหยุดออกกำลังกายไปแล้ว  24 - 48 ชั่วโมง สาเหตุยังไม่ทราบแน่ชัด แต่เชื่อกันว่าน่าจะเกิดจากกล้ามเนื้อ เอ็น เกิดความเสียหายระหว่างที่ออกกำลังกาย
การป้องกันกล้ามเนื้อระบม  ทำได้โดยการอบอุ่นร่างกายให้เพียงพอ ปรับปรุงวิธีการออกกำลังกายโดยเริ่มต้นแต่น้อยแล้วค่อยเพิ่มขึ้นในภายหลัง
2.5.   การบาดเจ็บที่เอ็นกล้ามเนื้อ  (Tendon)  ประกอบด้วยเส้นใยคอลลาเจน ซึ่งเชื่อมระหว่างกล้ามเนื้อกับกระดูก  เอ็นจะมีเยื่อบางๆห่อหุ้มเรียกว่าเยื่อหุ้มเอ็น และมีปลอกหุ้มเอ็น หุ้มรอบนอกอีกชั้นหนึ่งการบาดเจ็บที่เอ็นกล้ามเนื้อ แบ่งออกเป็น 3 ลักษณะคือ
ก.       เยื่อหรือปลอกหุ้มเอ็นกล้ามเนื้ออักเสบ (Tenosynovitis)  เยื่อหุ้มเอ็นมีหน้าที่ให้อาหารและหล่อลื่นให้เอ็นกล้ามเนื้อเคลื่อนไหวได้อย่างสะดวกยิ่งขึ้น  การอักเสบมักพบบ่อยที่บริเวณข้อมือ ข้อเท้า เนื่องจากใช้งานมากเกินไป (0verused) จะมีอาการปวดบวม อาการจะหายไปเมื่อให้พักส่วนนั้น ร่วมกับการใส่เฝือกอ่อน (Splint) อาจให้ยาแก้อักเสบร่วมด้วย
ข.      เอ็นกล้ามเนื้ออักเสบ (Tendinitis) สาเหตุเกิดจากการใช้งานหนักเกินไปและทำอยู่เป็นประจำ หรือเกิดจากการใช้วัสดุ อุปกรณ์ที่ไม่เหมาะสม เช่น การวิ่งบนพื้นที่แข็ง ตลอดจนการเพิ่มความเร็วการฝึกอย่างกะทันหัน มักจะมีอาการบวม พองของเอ็นและแข็ง กดเจ็บ ตัวเอ็นสูญเสียความยืดหยุ่น รักษาได้โดยใช้วิธีการทางกายภาพบำบัด
ค.       เอ็นฉีกขาด (Rupture)  มักพบในคนสูงอายุ เกิดจากการเปลี่ยนทิศทาง ความเร็วในการเคลื่อนที่ทันทีทันใด การฉีกขาดอาจเกิดบางส่วนหรือทั้งมัดก็ได้ ในกรณีขาดบางส่วนจะรักษาโดยการให้พักการออกกำลังกายหนักๆ จนกว่าอาการจะลดลงเมื่ออาการปวดทุเลาลงแล้ว จะรักษาโดยวิธีการยืดเอ็น กล้ามเนื้อโดยทำช้าๆ นิ่มนวล หากอาการไม่ดีขึ้นควรปรึกษาแพทย์ หรือนักกายภาพบำบัด และในกรณีขาดทั้งมัดให้ปรึกษาแพทย์เพื่อทำการรักษาต่อไป
3.      การบาดเจ็บที่ข้อต่อและเอ็นยึดข้อ พบในนักกีฬาบ่อยที่สุดโดยเฉพาะในกีฬาที่มีการปะทะ มีดังนี้
3.1.   ข้อขัด (Locking)  เป็นอาการติดขัดในการเคลื่อนไหวของข้อต่อในช่วงใดช่วงหนึ่ง มีสาเหตุมาจากมีบางสิ่งบางอย่างขัดอยู่ในข้อ เช่น เศษกระดูกหรือกระดูกอ่อน การรักษาโดยการผ่าตัดเอาเศษกระดูกออกมา
3.2.   ข้อบวม (Swelling)  เกิดจากหลายสาเหตุดังนี้
ก.       การบวมนอกข้อต่อ  เกิดจาการอักเสบของถุงหล่อลื่น (Bursa) นอกข้อต่อ โดยทั่วไปมักไม่มีอันตรายมากนักนอกจากทำให้รำคาญ หรือในบางคนอาจมีอาการปวดร่วมด้วย การรักษาโดยวิธีทางกายภาพบำบัดหรือโดยการผ่าตัด
ข.      การบวมภายในข้อต่อ  เกิดจากการบวมภายในข้อต่อ บวมออกมานอกข้อต่อ การรักษาโดยการผ่าตัด
3.3.   ข้อติด (Stiffness)  ภายหลังการบาดเจ็บของข้อต่อ มักจะทำให้ข้อนั้นติดเพราะกล้ามเนื้อรอบๆ เกิดการตึงตัว เนื่องจากไม่ได้เคลื่อนไหวเป็นเวลานานๆ การรักษาโดยวิธีทางกายภาพบำบัด
3.4.   ข้อแพลง (Sprain)  เกิดจากการเคลื่อนไหวของข้อต่อเกินมุมปกติ ทำให้เกิดการฉีกขาดของเอ็นยึดข้อต่อ รวมถึงปลอกหุ้มข้อต่อฉีกขาดด้วย มักพบที่ข้อเท้า ข้อมือ ข้อนิ้วมือ แบ่งออกเป็น 3 ระดับคือ
ระดับที่ 1  แพลงเล็กน้อย (Mild Sprain)  เกิดจากเอ็นยึดข้อต่อฉีกขาดเล็กน้อย กดเจ็บแต่ไม่บวม ควรหยุดเล่น 1 สัปดาห์
ระดับที่ 2  แพลงปานกลาง (Moderate Sprain)  เกิดจากเอ็นฉีกขาดพอสมควร มีอาการกดเจ็บ บวม อาจมีเลือดคั่งต้องพันยึดด้วยผ้ายืด ควรหยุดเล่น 3 สัปดาห์
ระดับที่ 3  แพลงรุนแรง (Severe Sprain)  เกิดจากเอ็นฉีกขาดมาก อาจฉีกขาดถึงปลอกหุ้มข้อต่อ มีอาการกดเจ็บ บวมมาก มีเลือดออก เคลื่อนไหวอย่างปกติไม่ได้ การรักษา ต้องผ่าตัดต่อเอ็นและใส่เฝือก ต้องหยุดพักไม่ต่ำกว่า 6 สัปดาห์ และต้องทำกายภาพบำบัดต่อประมาณ 4 - 6 เดือน
การปฐมพยาบาลข้อแพลง ทำดังนี้
ก.       ให้ข้อต่อที่บาดเจ็บอยู่นิ่งๆ และหนุนให้สูง
ข.      ใช้ความเย็น หรือน้ำแข็งประคบ ครั้งละ 20 30 นาที วันละ 2 3 ครั้ง
ค.       ใช้ผ้ายืด (Elastic Bandage)  พันรอบข้อเพื่อจำกัดการเคลื่อนไหว ถ้ามีการบาดเจ็บรุนแรงให้นำส่งแพทย์เพื่อทำการรักษา
ง.       ยกข้อที่บาดเจ็บให้สูงกว่าระดับหัวใจ โดยเฉพาะเวลานอน
จ.       หลัง 24 - 48 ชั่วโมงไปแล้วให้ใช้ความร้อนประคบ
3.5.   ข้อหลุดหรือเคลื่อน (Dislocation)  เป็นลักษณะที่ข้อต่อกระดูกหลุดออกจากที่ที่มันอยู่ตามปกติ ทำให้เยื่อหุ้มข้อต่อฉีกขาด กล้ามเนื้อ หลอดเลือด เส้นประสาทบริเวณนั้นฉีกขาด ถ้าเป็นเล็กน้อยเรียกว่า Subluxation  ถ้าเป็นรุนแรงเรียกว่า Luxation  ข้อหลุดแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ
ก.       ข้อหลุดชนิดเฉียบพลัน (Acute Dislocation)  เป็นการหลุดครั้งแรกโดยที่ไม่เคยหลุดมาก่อน
ข.      ข้อหลุดชนิดเรื้อรัง (Chronic Dislocation)  เป็นการหลุดตั้งแต่ครั้งที่ 2 เป็นต้นไป เป็นเพราะเอ็นยึดข้อไม่แข็งแรง หรือยืด ต้องแก้ไขโดยการผ่าตัด 
สาเหตุของข้อหลุด เกิดจากแรงกระแทก หรือแรงดึงจากภายนอก หรืออาจเกิดจากพยาธิสภาพของข้อเอง จะมีอาการปวดบวม กดเจ็บ เคลื่อนไหวไม่ได้ รูปร่างของข้อต่อผิดไปจากเดิม  การปฐมพยาบาล ให้ข้อที่หลุดอยู่นิ่งๆ ประคบเย็น และนำส่งแพทย์เพื่อทำการรักษาต่อไป
4.      การบาดเจ็บที่กระดูก  กระดูกเป็นอวัยวะที่แข็งแกร่งของร่างกาย การเกิดกระดูกหักแสดงว่าแรงที่กระทำต้องมากหรือรุนแรงพอสมควร
กระดูกหัก (Fracture)  หมายถึง ส่วนประกอบของกระดูกแตกแยกออกจากกันแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทคือ
1.        กระดูกหักธรรมดา (Close or Simple Fracture)  เป็นการหักของกระดูกไม่มีแผล และไม่มีกระดูกโผล่ออกมาภายนอก
2.        กระดูกหักชนิดมีบาดแผล (Opened or Compound Fracture)  เป็นการหักของกระดูกและทิ่มแทงออกมานอกเนื้อ
สาเหตุของกระดูกหัก แบ่งเป็น 2 แบบคือ
1)       เกิดจากอุบัติภัย เช่น การเล่นกีฬา ตกจากที่สูง ถูกของหนักทับ
2)       เกิดจากพยาธิสภาพของกระดูกเอง เช่น โรคกระดูกพรุน โพรงกระดูกอักเสบ มะเร็งในกระดูก เป็นต้น
การปฐมพยาบาลกระดูกหัก มีหลักเกณฑ์ดังนี้
1)       ให้การปฐมพยาบาลอย่างรีบด่วน
2)       หากมีอาการเป็นลม หรือช็อก ต้องแก้ไขให้ฟื้นก่อน
3)       ถ้ามีการตกเลือด ต้องห้ามเลือดด้วยวิธีการที่เหมาะสม
4)       การจับหรือตรวจบริเวณที่หักต้องทำด้วยความระมัดระวัง
5)       ถ้าจำเป็นต้องถอดเสื้อผ้าออก ควรใช้วิธีตัดทิ้ง
6)       หากมีบาดแผลควรเช็ดล้างให้สะอาด แต่ห้ามล้างเข้าไปในแผล
7)       หากจำเป็นต้องเข้าเฝือก ต้องทำด้วยความระมัดระวังและรวดเร็ว
8)       การเคลื่อนย้ายผู้ป่วย ต้องกระทำให้ถูกหลักวิธีการ
9)       รีบนำส่งแพทย์
10)    การรักษากระดูกนั้น ต้องรักษาโดยแพทย์ผู้ชำนาญทางกระดูกเท่านั้น


การฟื้นฟูสมรรถภาพนักกีฬา
นักกีฬาที่ได้รับบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา หลังจากได้รับการรักษาในระยะเฉียบพลันแล้วมักจะมีปัญหาตามมาภายหลัง ได้แก่ อาการบวม ปวดข้อ ความคล่องแคล่วว่องไว ความแข็งแรง ความทนทานและสมรรถภาพด้านอื่นๆ ลดลง จึงจำเป็นต้องมีการฟื้นฟูสมรรถภาพของนักกีฬาเพื่อให้สามารถกลับไปเล่นกีฬาได้เหมือนเดิมและปลอดภัย
วิธีการฟื้นฟูสมรรถภาพนักกีฬา มีหลายวิธีเช่น การประคบร้อน การนวด การออกกำลังกาย
ประเภทของการออกกำลังกายเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพ
1.        การออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรง จะอาศัยน้ำหนักหรือแรงต้านเข้ามาเกี่ยวข้อง
2.        การออกกำลังกายเพื่อให้ข้อที่ติดมีการเคลื่อนไหวที่ดีขึ้น มักพบที่ไหล่ ศอก เข่าและนิ้วมือ ทำโดยการบริหารร่างกายในส่วนนั้นๆเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเคลื่อนไหวได้ดีขึ้น
3.        การออกกำลังกายเพื่อให้มีการทำงานประสานกันระหว่างประสาทและกล้ามเนื้อดีขึ้น เช่นในรายที่เอ็นฉีกขาด หรืออัมพาต ต้องฝึกโดยการให้ทำซ้ำๆในกิจกรรมหนึ่งเพื่อให้เกิดการประสานงานของระบบประสาทและกล้ามเนื้อ โดยเริ่มจากง่ายๆ ก่อน แล้วจึงเพิ่มความซับซ้อนขึ้นตามลำดับ
4.        การออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างความทนทาน เป็นการออกกำลังกายโดยใช้น้ำหนักน้อยๆ แต่เน้นจำนวนครั้งให้มาก
5.        การออกกำลังกายเพื่อการผ่อนคลาย  เป็นการออกกำลังกายในผู้ป่วยที่มีความเครียดสูง โดยให้ผู้ป่วยอยู่ในสถานที่ที่สงบ อยู่ในท่าที่สบาย หายใจเข้าออกช้าๆเป็นจังหวะ บริหารโดยการเหยียดข้อต่อต่างๆไปมาอย่างสบาย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น