วันเสาร์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

การเลี้ยงลูกบอล

ทักษะการเลี้ยงลูกบาสเกตบอล ใช้สำหรับนำลูกบาสเกตบอลเคลื่อนที่ไปกับตัวเองหรือการครอบครองลูกบาสเกตบอลไว้กับตัวเองซึ่งตามระเบียบการเล่นกีฬาบาสเกตบอลการครอบครองลูกบอลไว้นั้นต้องไม่นานเกิน 5 วินาที ถ้าผู้เล่นยังต้องการครอบครองลูกบอลไว้อีก จึงจำเป็นต้องเลี้ยงลูกบอลเพื่อรอจังหวะการเล่นต่อไป และการเลี้ยงลูกบาสเกตบอลยังถือเป็นวิธีการอย่างหนึ่งของฝ่ายรุก ที่จะดึงฝ่ายป้องกันให้ออกมาจากเขตประตู หรือให้ผู้เล่นฝ่ายเดียวกันมีเวลาจัดตำแหน่งในการยืนหรือเข้าทำประตูเมื่อมีโอกาส การเลี้ยงลูกบาสเกตบอลแบ่งเป็น 2 แบบตามลักษณะและจุดมุ่งหมายการเลี้ยงลูกบาสเกตบอล คือ
1.             การเลี้ยงลูกบาสเกตบอลระดับสูง
2.             การเลี้ยงลูกบาสเกตบอลระดับต่ำ
วิธีการเลี้ยงลูกบาสเกตบอล
การเลี้ยงลูกบาสเกตบอล มี 2 แบบ ได้แก่
1.             การเลี้ยงลูกระดับสูง คือ การเลี้ยงลูกโดยทุ่มลูกให้สูงระดับเหนือเอวขึ้นมา แต่ไม่ควรเกินหัวไหล่ จะทำให้ควบคุมทิศทางลูกบอลยาก ใช้กับการเคลื่อนที่ในทิศทางตรง เช่น การวิ่งเลี้ยงลูก
2.             การเลี้ยงลูกระดับต่ำ คือ การเลี้ยงลูกโดยทุ่มลูกบอลต่ำกว่าเอวลงไป คือประมาณความสูงระดับเข่า ใช้สำหรับการเคลื่อนที่หลบหลีกคู่ต่อสู้หรือใช้เลี้ยงในพื้นที่แคบ อาจใช้การเคลื่อนที่โดยการก้าวเท้าตามกัน (Slide) การเลี้ยงระดับนี้จะควบคุมลูกได้ดี สามารถพาลูกไปกับตัวได้อย่างคล่องแคล่ว
วิธีปฏิบัติในการเลี้ยงลูกบาสเกตบอล
การเลี้ยงลูกบาสเกตบอล คือการทุ่มลูกให้กระดอนกับพื้นด้วยมือข้างเดียว หรือด้วยมือสองข้างสลับกันติดต่อกันไป มีวิธีปฏิบัติ ดังนี้
1.             จากท่าเตรียม (ท่าถือครอบครองลูกบอล) ทุ่มลูกบอลลงกับพื้น เมื่อลูกบอลกระดอนขึ้นมา ให้กางนิ้วข้างใดข้างหนึ่งรับ โดยคว่ำมือกดลงไป ไม่ควรให้อุ้งมือสัมผัสลูกบอล
2.             ใช้นิ้วมือในการบังคับลูกบอล ต้องการให้ลูกบอลกระดอนตรงก็กดที่กลางหลังลูกบอลตรงๆ ถ้าต้องการไปทางซ้ายก็กดลูกค่อนไปทางขวา เป็นต้น
3.             แขนท่อนล่างที่ใช้เลี้ยงลูกบอลให้พับขึ้นลงตามจังหวะการทุ่มลูกแต่ละครั้ง ส่วนแขนท่อนบนก็ปล่อยลงมาตามปกติไม่ต้องขยับ
4.             การเลี้ยงลูกบอลด้วยมือขวา เท้าซ้ายควรอยู่หน้า ถ้าเลี้ยงลูกบอลด้วยมือซ้าย เท้าขวาควรอยู่หน้า ย่อเข่าลงเล็กน้อย น้ำหนักตัวตกลงบนปลายเท้าทั้งสอง เพื่อให้สามารถเคลื่อนที่ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว
5.             ลำตัวโน้มไปข้างหน้าเล็กน้อย สายตามองตรงหรือมองเป้าหมายที่ต้องการเคลื่อนที่ไป หรือถ้ามีฝ่ายตรงข้ามป้องกันต้องมองที่ฝ่ายตรงข้าม ไม่ควรเลี้ยงลูกบอลโดยสายตาจับอยู่ที่ลูกบอลอย่างเดียว ให้ชำเลืองด้วยหางตา
6.             แขนอีกข้างกางออกเล็กน้อย เพื่อให้เกิดการทรงตัวที่ดี และยังสามารถใช้หมุนป้องกันฝ่ายตรงข้ามที่เข้ามาแย่งบอลได้อีกด้วย

สรุปหลักการเลี้ยงลูกบาสเกตบอล
1.             ต้องสามารถเลี้ยงลูกบอลได้ทั้งสองมือ และไม่ใช้อุ้งมือในการเลี้ยงลูกบอล
2.             ควรฝึกการเลี้ยงโดยใช้หางตามองลูกบอลเท่านั้น สายตาควรจะมองจับจุดหมาย เช่น เลี้ยงลูกบอลต้องการหลบหลีกฝ่ายตรงข้ามเพื่อไปทำประตู
3.             สามารถเลี้ยงลูกบอลได้ทุกแบบ คือ การเลี้ยงลูกบาสเกตบอลระดับสูง และการเลี้ยงลูกบาสเกตบอลระดับต่ำ
4.             การเลี้ยงลูกบอลที่ดีต้องสามารถเคลื่อนที่และเปลี่ยนทิศทางหรือหยุดได้ทันทีทันใด



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น