วันเสาร์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับกีฬาบาสเกตบอล

คำจำกัดความ (Definitions)
1. เกมการแข่งขันขันบาสเกตบอล (Basketball game)
                    บาสเกตบอลเป็นการเล่นที่ประกอบด้วยผู้เล่น 2 ทีม แต่ละทีมมีผู้เล่น 5 คน จุดมุ่งหมายของแต่ละทีมคือ ทำคะแนนโดย การโยนลูกบอลให้ลงห่วงประตูของฝ่ายตรงข้าม และป้องกันอีกฝ่ายหนึ่งไม่ให้ครอบครองบอลหรือทำคะแนน
2. ห่วงประตูฝ่ายตนเอง/ฝ่ายตรงข้าม (Basket : own/opponents’)
ฝ่ายรุกทำคะแนนโดยนำลูกบอลโยนให้ลงห่วงประตูของฝ่ายตรงข้ามและป้องกันห่วงประตูของฝ่ายตนเอง
3. การเคลื่อนที่ของลูกบอล (Ball movement)
ลูกบอลอาจจะถูกส่ง โยน ปัด กลิ้ง หรือเลี้ยงในทิศทางใดๆ ก็ได้ ภายใต้ข้อจำกัดที่กำหนดไว้ในกติกา
4. ผู้ชนะของเกมการแข่งกัน (Winner of a game)
เมื่อสิ้นสุดเวลาการแข่งขันของช่วงการเล่นที่ 4 หรือถ้าจำเป็นต้องต่อเวลาพิเศษ ทีมที่มีคะแนนมากกว่าจะเป็นผู้ชนะในเกมการแข่งขัน
ประวัติ ความเป็นมาของกีฬาบาสเกตบอล
1. ประวัติบาสเกตบอลในต่างประเทศ
กีฬาบาสเกตบอลได้กำเนิดขึ้นครั้งแรกที่ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยเริ่มจาก ดร. เจมส์ เอ เนสมิท (James A. Naismith) ได้คิดขึ้นเพื่อเล่นในโรงพลศึกษาของโรงเรียนฝึกอบรมสมาคม Y.M.C.A. นานาชาติ (International Young Men’s Christian Association Training School) ที่เมืองสปริงฟิลด์ มลรัฐเมสซาชูเซตส์ ในช่วงที่หิมะตก เมื่อปี ค.. 1891 (.. 2434) ใช้ตะกร้าลูกพีช 2 ใบแขวนเป็นประตู จึงทำให้กีฬานี้ได้ชื่อว่า บาสเกตบอล” (Basketball) การเล่นครั้งนั้นใช้ลูกฟุตบอลเล่น มีผู้เล่นทั้งหมด 18 คน แบ่งออกเป็น 2 ฝ่ายๆ ละ 9 คน และตัวของ ดร.เนสมิท เป็นกรรมการ มีกฎการเล่น 4 ข้อ คือ
1.             ห้ามถือลูกเคลื่อนที่
2.             ห้ามผู้เล่นปะทะตัวกัน
3.             ประตูอยู่ระดับศีรษะและขนานกับพื้น
4.             ผู้เล่นจะถือลูกบอลนานเท่าไรก็ได้ และผู้เล่นฝ่ายตรงข้ามจะต้องไม่ถูกตัวผู้เล่น



ต่อมาได้มีการปรับปรุงกติกาการเล่นเป็น 13 ข้อ ดังนี้
1. ผู้เล่นห้ามถือลูกบอลแล้ววิ่ง
2. ผู้เล่นจะส่งบอลไปทิศทางใดก็ได้ โดยใช้มือเดียวหรือสองมือก็ได้
3. ผู้เล่นจะเลี้ยงบอลไปทิศทางใดก็ได้ โดยใช้มือเดียวหรือสองมือก็ได้
4. ผู้เล่นต้องใช้มือทั้งสองเข้าครอบครองบอล ห้ามใช้ร่างกายช่วยในการครอบครองบอล
5. ในการเล่นจะใช้ไหล่กระแทก หรือใช้มือดึง ผลัก ตี หรือทำการใดๆให้ฝ่ายตรงข้ามล้มลงไม่ได้ ถ้าผู้เล่นฝ่าฝืนถือเป็นการฟาล์ว 1 ครั้ง ถ้า ฟาล์ว 2 ครั้ง หมดสิทธิ์เล่น จนกว่าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดทำประตูกันได้จึงจะกลับมาเล่นได้อีก ถ้าเกิดการบาดเจ็บระหว่างการแข่งขัน จะไม่มีการเปลี่ยนตัวผู้เล่น
6. ห้ามใช้ขาหรือเท้าแตะลูก ถือเป็นการฟาล์ว 1 ครั้ง
7. ถ้าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดทำฟาล์วติดต่อกัน 3 ครั้ง ให้อีกฝ่ายหนึ่งได้ประตู
8. ประตูที่ทำได้หรือนับว่าได้ประตูนั้น ต้องเป็นการโยนบอลให้ลงตะกร้า ฝ่ายป้องกันจะไปยุ่งเกี่ยวกับประตูไม่ได้เด็ดขาด
9. เมื่อฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดทำลูกบอลออกนอกสนาม ให้อีกฝ่ายหนึ่งส่งลูกเข้ามาจากขอบสนามภายใน 5 วินาที ถ้าเกิน 5 วินาที ให้เปลี่ยนส่ง และถ้าผู้เล่นฝ่ายใดพยายามถ่วงเวลาอยู่เสมอให้ปรับเป็นฟาล์ว
10. ผู้ตัดสินมีหน้าที่ตัดสินว่าผู้เล่นคนใดฟาล์ว และลงโทษให้ผู้เล่นหมดสิทธิ์
11. ผู้ตัดสินมีหน้าที่ตัดสินว่าลูกใดออกนอกสนาม และฝ่ายใดเป็นฝ่ายส่งลูกเข้าเล่น และจะทำหน้าที่เป็นผู้รักษาเวลาบันทึกจำนวนประตูที่ทำได้ และทำหน้าที่ทั่วไปตามวิสัยของผู้ตัดสิน
12. การเล่นแบ่งออกเป็น 2 ครึ่งๆ ละ 20 นาที
13. ฝ่ายที่ทำประตูได้มากที่สุดเป็นผู้ชนะ ในกรณีคะแนนเท่ากันให้ต่อเวลาออกไป และถ้าฝ่ายใดทำประตูได้ก่อนถือว่าเป็นฝ่ายชนะ
สหรัฐอเมริกายอมรับการเล่นบาสเกตบอลเป็นกีฬาประจำชาติเมื่อวันที่ 20 มกราคม ค.ศ. 1892 ซึ่งได้มีการเล่นบาสเกตบอลอย่างเป็นทางการขึ้นเป็นครั้งแรก จึงมีวิวัฒนาการเกี่ยวกับกีฬาบาสเกตบอลหลายอย่าง ได้แก่ ในปี ค.ศ. 1893 ได้มีการลดจำนวนผู้เล่นเหลือ 5 คน ต่อมาในปี ค.ศ. 1894 ได้มีการพัฒนาลูกบอลขึ้นใหม่สำหรับใช้ในการเล่นและการแข่งขันโดยเฉพาะ ในปี ค.ศ. 1898 มีการเปลี่ยนประตูที่ทำด้วยตะกร้าเป็นห่วงเหล็กเพื่อความแข็งแรง และเริ่มใช้ตาข่ายติดกับห่วงเหล็ก ในปี ค.ศ. 1908 และในปี ค.ศ. 1915 สมาคม Y.M.C.A. สมาคมกีฬามหาวิทยาลัยแห่งชาติ และสมาพันธ์กีฬาสมัครเล่น ได้ร่วมประชุมเพื่อร่างกติกาการเล่นบาสเกตบอลขึ้นมาเพื่อเป็นบรรทัดฐานเดียวกัน กติกานี้ได้ใช้สืบมาจนกระทั่งปี ค.ศ. 1938 และได้รับการปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้นในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกครั้งที่ 11 ณ กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี โดยคณะกรรมการโอลิมปิกนานาชาติเป็นผู้พิจารณา
ปัจจุบันนี้หน่วยงานที่ควบคุมและดำเนินงานเกี่ยวกับกีฬาบาสเกตบอล ระดับนานาชาติ ได้แก่ สหพันธ์บาสเกตบอลนานาชาติ (The International Basketball Federation) ใช้ชื่อย่อว่า FIBA
2. ประวัติบาสเกตบอลในประเทศไทย
ประเทศไทยเริ่มเล่นบาสเกตบอลมากว่า 60 ปีแล้ว มีหลักฐานยืนยันว่า ใน พ.. 2477 นายนพคุณ พงษ์สุวรรณ ครูสอนภาษาจีน โรงเรียนมัธยมบพิตรพิมุข ได้ช่วยเหลือกรมพลศึกษาจัดแปลกติกาบาสเกตบอลขึ้นเป็นครั้งแรก และทางกรมพลศึกษาได้จัดอบรมครูพลศึกษาทั่วประเทศ ประมาณ 100 คน ใช้เวลา 1 เดือน วิทยากรสำคัญในการอบรมครั้งนั้น ได้แก่ หลวงชาติตระการโกศล ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญการเล่นกีฬาบาสเกตบอล ทั้งยังเคยเป็นผู้แทนมหาวิทยาลัยเข้าแข่งขันบาสเกตบอล เมื่อครั้งศึกษาอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา จากนั้นกีฬาบาสเกตบอลก็แพร่หลายทั่วประเทศไทย นิยมเล่นกันมากในหมู่ชาวไทยเชื้อสายจีนที่มีภูมิลำเนาอยู่ตามหัวเมือง ในตลาดเขตอำเภอของจังหวัดต่างๆ
ปัจจุบันกีฬาบาสเกตบอลถูกบรรจุในหลักสูตรการเรียนการสอนแทบทุกระดับการศึกษา คือ ตั้งแต่ระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอุดมศึกษา นอกจากนี้ยังมีการแข่งขันอยู่ตลอดเวลา องค์กรสำคัญที่ส่งเสริมและจัดการแข่งขันกีฬาบาสเกตบอลในประเทศไทย ได้แก่ สมาคมบาสเกตบอลแห่งประเทศไทย การกีฬาแห่งประเทศไทย เป็นต้น
ประโยชน์ของการเล่นบาสเกตบอล
กีฬาทุกประเภทล้วนแต่มีคุณค่าในตัวเองทั้งสิ้น จากประวัติความเป็นมาของกีฬาบาสเกตบอล สาเหตุของการคิดค้นเพื่อให้สามารถเล่นออกกำลังกายได้ในช่วงหิมะตก โดยเล่นในโรงพลศึกษาเช่นเดียวกับกรณีในประเทศไทยมีฝนตกก็เล่นในโรงพลศึกษาได้ สนามที่ใช้เล่น ก็ไม่ใหญ่โตมากนัก ซึ่งเหมาะกับสภาพปัจจุบันคือที่ดินมีราคาสูงและหาได้ยาก จำนวนผู้เล่นไม่มากนัก ผู้เล่นต้องอาศัยความเร็วและความสามารถในการเล่น นับว่าเป็นการท้าทายความสามารถในการที่จะฝึกฝนเพื่อให้เกิดทักษะหรือความชำนาญในการเล่น ซึ่งกีฬาบาสเกตบอลได้แฝงด้วยคุณค่าและประโยชน์อีกมากมาย พอสรุปได้ดังนี้
1.             ช่วยพัฒนาและส่งเสริมศักยภาพในด้านต่างๆ ได้แก่ ร่างกาย จิตใจ สติปัญญา อารมณ์ และสังคมแก่บุคคล
2.             ช่วยพัฒนาและส่งเสริมกลไกการเคลื่อนไหวร่างกาย (Motor Skill) ให้ทำงานประสานกันดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นมือ เท้า สายตาให้เคลื่อนไหวได้อย่างถูกต้อง
3.             เป็นกิจกรรมนันทนาการสำหรับพักผ่อน คลายความตึงเครียดแก่ผู้เล่นและผู้ชม
4.             ช่วยฝึกการตัดสินใจและรู้จักคิดแก้ปัญหา ตลอดจนมีสมาธิดี
5.             ช่วยฝึกให้มีน้ำใจนักกีฬา รู้จักแพ้ รู้จักชนะและรู้จักให้อภัย
6.             ใช้เป็นสื่อในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและส่วนรวม
7.             ใช้เป็นสื่อในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนในวิชาพลศึกษา
8.             ผู้เล่นที่มีความสามารถจะทำชื่อเสียงให้ตัวเอง วงศ์ตระกูลและประเทศชาติ
9.             เป็นวิชาชีพด้านหนึ่งสำหรับงานกีฬา เช่น การแข่งขัยบาสเกตบอลอาชีพ เป็นต้น
อุปกรณ์และสนามบาสเกตบอล
1. สนามแข่งขัน (
Playing Court
)
                             1) สนามต้องเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า พื้นผิวเรียบ แข็งปราศจากสิ่งกีดขวางที่ทำให้เกิดความล่าช้าสำหรับการแข่งขันซึ่งจัดโดยสหพันธ์บาสเกตบอลนานาชาติ ขนาดสนามที่จะสร้างขึ้นใหม่ต้องยาว 28 เมตรและกว้าง 15 เมตร โดยวัดจากขอบใน ของเส้นเขตสนาม สำหรับการแข่งขันอื่นทั้งหมดที่สหพันธ์บาสเกตบอลนานาชาติรับรอง เช่น สหพันธ์ระดับโซน หรือสมาคม แห่งชาติ เป็นต้น ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจเห็นชอบให้ใช้สนามขนาดเล็กสุดในการแข่งขันได้ คือ ยาว 26 เมตรและกว้าง 14 เมตร
                             2) ความสูงของเพดานหรือสิ่งกีดขวางต้องไม่ต่ำกว่า 7 เมตร
3) พื้นผิวของสนามควรจะเหมือนกันและมีแสงสว่างเพียงพอ แสงสว่างต้องอยู่ในตำแหน่งที่ไม่เป็นอุปสรรคต่อการมองเห็นของ ผู้เล่นและของผู้ตัดสิน
4) เส้นทุกเส้นต้องเป็นสีเดียวกัน (ควรเป็นสีขาว) กว้าง 5 เซนติเมตร และมองเห็นได้อย่างชัดเจน ดังนี้
- เส้นหลังและเส้นข้าง (End lines and side-lines)
                        - เส้นกลาง (Center line)
                      - เส้นโยนโทษ (Free-throw lines)
                                      - วงกลมกลาง (Center circle)
                       - พื้นที่ยิงประตู 3 คะแนน (Three-point field goal area)


2. อุปกรณ์ (Equipment)
1) กระดานหลังและห่วงประตู (Backboard and Basket)
- กระดานหลัง กว้าง 10.5 เมตร ยาว 1.80 เมตร
- ห่วง เส้นผ่าศูนย์กลางยาว 0.45 เมตร (45 เซนติเมตร)
- ห่วงประตู (ห่วงและตาข่าย) สูงจากพื้น 3.05 เมตร
- ตาข่าย ยาว 0.40-0.45 เมตร (40-45 เซนติเมตร)
- ที่ยึดกระดานหลัง
- เบาะรองที่ยึดกระดานหลัง (ฐานตั้งห่างจากเส้นหลัง 2.00 เมตร)
                              2) ลูกบาสเกตบอล (Basketballs)
- ลูกบอล ต้องเป็นรูปทรงกลมและมีสีส้ม ซึ่งได้รับการรับรอง มี 8 ช่องกลีบ ตาม แบบเดิม กรุและเย็บเชื่อต่อกัน
- ผิวนอกต้องทำด้วยหนัง หนังที่เป็นสารสังเคราะห์ ยาง หรือวัสดุสารสังเคราะห์
- ลูกบอลจะขยายตัวเมื่อสูบลมเข้าไป ถ้าปล่อยลงสู่พื้นสนามจากความสูง โดยประมาณ 1.80 เมตร วัดจากส่วนล่างของลูกบอล ลูกบอลจะกระดอนขึ้นสูงวัดจากส่วนบนสุดจากของลูกบอลระหว่าง 1.20 เมตร ถึง 1.40 เมตร
- ลูกบอลต้องมีเส้นรอบวงไม่น้อยกว่า 74.9 เซนติเมตร และไม่มากกว่า 78 เซนติเมตร (ลูกบอลเบอร์ 7) จะต้องมีน้ำหนักไม่น้อยกว่า 567 กรัม และไม่มากกว่า 650 กรัม


การดูแลรักษาอุปกรณ์และสนามบาสเกตบอล
อุปกรณ์และสนามบาสเกตบอลควรได้รับการดูแลและเก็บรักษาให้ดี เพื่อให้มีประสิทธิภาพในการใช้งานให้นานที่สุด เพื่อความประหยัดและเป็นการปลูกฝังให้เล่นเกิดนิสัยรักความมีระเบียบโดยมีหลักปฏิบัติดังนี้
1.             เครื่องแต่งกายต้องดูแลรักษาให้สะอาดเสมอ เมื่อนำไปซักล้างต้องผึ่งแดดให้แห้งสนิทก่อนนำมาใช้
2.             ลูกบาสเกตบอลต้องเก็บให้เรียบร้อยเมื่อเลิกใช้ ห้ามนำลูกบาสเกตบอลไปเล่นผิดประเภทกีฬา เช่น นำไปเตะ หรือไม่นำมารองนั่ง เพราะจะทำให้ลูกบาสเกตบอลผิดรูปทรง
3.             อย่าให้ลูกบาสเกตบอลที่ทำด้วยหนังถูกน้ำนานๆ เพราะนอกจากจะเป็นการเพิ่มน้ำหนักให้มากขึ้นแล้ว ยังทำให้ลูกบอลชำรุดเร็วกว่าปกติด้วย ดังนั้นเมื่อลูกบอลถูกน้ำควรใช้ผ้าเช็ดให้แห้งทันทีก่อนที่จะนำลูกบอลมาเล่นต่อไป
4.             การสูบลมหรือปล่อยลมออกจากลูกบาสเกตบอล ควรใช้เข็มที่ใช้กับลูกบอลโดยเฉพาะ ถ้าใช้ของแหลมชนิดอื่นอาจจะทำให้ลูกบอลชำรุดได้ง่าย
5.             สำรวจเสาประตู กระดานหลัง หรือห่วงให้แน่นหนาแข็งแรง และปลอดภัย
6.             ห้ามกระโดดเกาะหรือห้อยโหนห่วงประตูเล่น
7.             ตาข่ายควรใช้เทปหรือลวดพันยึดให้ติดแน่นกับห่วงประตูอยู่เสมอ
8.             รักษาพื้นสนามให้เรียบ สะอาด และเส้นสนามควรชัดเจนให้อยู่ในสภาพพร้อมที่จะเล่น ถ้าชำรุดต้องรีบปรับปรุงแก้ไข
จัดระเบียบการใช้สนามและอุปกรณ์ ประกาศให้ทุกคนทราบ
9.             จัดสถานที่หรือที่เก็บอุปกรณ์ให้เป็นระเบียบ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น