วันเสาร์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ใบความรู้ เรื่อง “ระบบบริการสุขภาพของประเทศ”

ระบบบริการสุขภาพ
แนวคิดการจัดบริการสุขภาพ ควรเป็นการจัดบริการสุขภาพที่มีความครอบคลุมการส่งเสริมสุขภาพการป้องกันโรค การรักษาพยาบาล และการฟื้นฟูสภาพ โดนรวมถึงทั้งบริการที่จัดโดยบุคลากรทางด้านสุขภาพ (Professional Care) และบริการที่จัดโดยบุคคล ครอบครัว และชุมชน (Non –Professional Care) การจัดระบบบริการสุขภาพควรมีความเหมาะสม สอดคล้องกับความจำหรือความต้องการ และสภาพปัญหาทางด้านสุขภาพของประชากรที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของการบริการ
การจัดระบบบริการสุขภาพควรเริ่มด้วยการกำหนดความจำเป็นความต้องการตลอดจนสภาพปัญหาที่สำคัญทางด้านสุขภาพที่ต้องการหรือมุ่งเน้นที่จะดำเนินการแก้ไข หลังจากนั้นจึงทำการออกแบบระบบบริการสุขภาพรวมทั้งการดูแลทางด้านสาธารณสุขที่เหมาะสมซึ่งรูปแบบการรักษาพยาบาล การส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค และการฟื้นฟูสภาพที่มีความเป็นไปได้ มีทั้งรูปแบบการดูแลตนเอง การจัดบริการในสถานพยาบาลรูปแบบต่างๆ เช่น สถานีอนามัย ศูนย์สุขภาพชุมชน คลินิกโรงพยาบาล เป็นต้น รวมทั้งการออกหน่วยบริการเคลื่อนที่ในรูปแบบต่างๆ
โครงสร้างระบบบริการสุขภาพ และระบบส่งต่อ
ระบบบริการสุขภาพที่พึงประสงค์ควรเป็นระบบบริการสุขภาพแบบบูรณาการ (Integrated Health Care System) ที่มีหลักการและคุณสมบัติสำคัญคือ ให้บริการที่ครอบคลุมทั้งคุณภาพเชิงสังคมและเชิงเทคนิคบริการและครอบคลุมบริการที่จำเป็นทั้งหมด ไม่มีความซ้ำซ้อนของบทบาทสภานพยาบาลในระดับต่างๆ มีความเชื่อมโยงระหว่างสถานพยาบาลแต่ละระดับ เป็นการเชื่อมโยงทั้งการส่งต่อผู้ป่วยและข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับผู้ป่วย โครงสร้างระบบสุขภาพมีองค์ประกอบที่สำคัญประกอบด้วยบริการปฐมภูมิ บริการทุติยภูมิ บริการตติยภูมิ บริการระดับศูนย์การแพทย์เฉพาะทางและระบบส่งต่อ นอกจากนี้ยังควรมีระบบสนับสนุนที่สำคัญได้แก่ ระบบสนับสนุนทรัพยากร ระบบสนับสนุนวิชาการและการวิจัย และระบบข้อมูลข่าวสาร
๑) การบริการปฐมภูมิ (Primary Care) เป็นบริการที่อยู่ใกล้ชิดประชาชนและชุมชนมากที่สุด จึงเน้นที่ความครอบคลุม มีการบริการผสมผสาน ทั้งในด้านการรักษาพยาบาล การส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันควบคุมโรค ฟื้นฟูสภาพ จัดบริการปฐมภูมิในเขตพื้นที่ชนบท สถานีอนามัย ศูนย์สุขภาพชุมชน สำหรับในเขตเมืองอาจเป็น ศูนย์บริการสาธารณสุขของกรุงเทพมหานครหรือศูนย์แพทย์ชุมชน
๒) การบริการทุติยถูมิ (Secondary Care) เป็นบริการที่ใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ในระดับที่สูงขึ้น เน้นการบริการรักษาพยาบาลโรคที่ยาก ซับซ้อนมากขึ้น ได้แก่ โรงพยาบาลชุมชนในระดับอำเภอ โรงพยาบาลทั่วไปในระดับจังหวัด และโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงกลาโหม
๓) การบริการตติยภูมิ และศูนย์การแพทย์เฉพาะทาง (Tertiary Care and Excellent Center) เป็นการบริการที่ใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ขั้นสูง มีความสลับซับซ้อนมาก มีบุคลากรทางการแพทย์ในสาขาเฉพาะทาง สังกัดกระทรวงสาธารณสุขที่เป็นโรงพยาบาลศูนย์ สถาบันเฉพาะทางต่างๆ หรือหรือสังกัดมหาวิทยาลัย เช่น โรงพยาบาลในโรงเรียนแพทย์
๔) ระบบส่งต่อผู้ป่วย ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.. ๒๕๕๐ บัญญัติว่า รัฐต้องจัดและส่งเสริมการสาธารณสุขให้ประชาชนได้รับบริการที่ได้มาตรฐานและมีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึง กระทรวงสาธารณสุข ใช้นโยบาย ๓ ประการ คือ
๔.๑) การพัฒนาคุณภาพของสถานบริการสาธารณสุขทุกระดับ
๔.๒) การสร้างหลักประกันสุขภาพให้กับประชาชนทุกคน
๔.๓) ระบบส่งต่อและเครือข่ายสถานบริการสาธารณสุข

แนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาระบบสุขภาพของประเทศ
          องค์การอนามัยโลกได้เสนอวิธีการแก้ปัญหาสาธารณสุขของประเทศ โดยเน้นการส่งเสริมสุขภาพ (Health Promotion) เป็นแนวทางที่สำคัญ โดยจัดเป็นกระบวนการเพื่อให้ประชาชนเพิ่มขีดความสามารถในการควบคุมและสร้างเสริมสุขภาพของตนเองให้ดีขึ้น เพื่อให้มีสุขภาพดีทั้งร่างกาย จิตใจ และสังคม ซึ่งในกฎบัตรออตตาวาเพื่อการส่งเสริมสุขภาพ (Ottawa Charter for Health Promotion) ได้เสนอแนะกิจกรรม เพื่อการดำเนินการส่งเสริมสุขภาพ (Health Promotion Action) ไว้ ๕ ประการ คือ
๑.      สร้างนโยบายสาธารณะที่เอื้อต่อสุขภาพ เกี่ยวข้องกับกฎหมายมาตรการทางเศรษฐกิจ การเงิน การคลัง การเก็บภาษี
๒.      การสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ ได้แก่ การอนุรักษ์ทรัพยากรตามธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการจัดการสิ่งแวดล้อมให้สอดคล้องและเหมาะสมกับการดำเนินชีวิต การทำงาน และการใช้เวลาว่าง
๓.      การเพิ่มความสามารถของชุมชน เป็นการสร้างพลังและอำนาจให้กับชุมชนให้สามารถกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อพึ่งตนเองทางด้านสุขภาพ
๔.      การพัฒนาทักษะส่วนบุคคล ให้เกิดความรู้และมีทักษะในการดำรงชีวิตที่ถูกต้อง
๕.      การปรับระบบบริการสาธารณสุข ให้เน้นกิจกรรมการส่งเสริมสุขภาพให้มากขึ้น ในการดำเนินการส่งเสริมสุขภาพสามารถดำเนินการโดยเริ่มจากงานใดงานหนึ่งทั้ง ๔ งาน ของการส่งเสริมสุขภาพ คือ
๕.๑ การพัฒนาสุขภาพ ได้แก่ การแก้ไขพฤติกรรมเสี่ยง เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มสุรา เป็นต้น
๕.๒ การส่งเสริมสุขภาพแก่กลุ่มเป้าหมาย เป็นการส่งเสริมสุขภาพในกลุ่มวัยต่างๆ กลุ่มผู้ป่วยโรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง
๕.๓ พื้นที่เป้าหมาย อาจเริ่มต้นที่ครอบครัว โรงเรียน หรือสถานที่ทำงาน
๕.๔ กลยุทธ์ในการส่งเสริมสุขภาพ ได้แก่ การจัดกิจกรรมสุขปัญหา การสร้างเครือข่ายสุขภาพ การออกกฎหมาย และกฎระเบียบต่างๆ เป็นต้น

หนังสืออ้างอิง
รัชนี ขวัญบุญจัน และคณะ. ๒๕๔๗. หนังสือเรียนสาระการเรียนรู้พื้นฐาน กลุ่มสาระการเรียนรู้ สุขศึกษา
และพลศึกษา ช่วงชั้นที่ ๔ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๕. กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพาณิช.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น