วันเสาร์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ตำแหน่งหน้าที่ของผู้เล่น

การเล่นบาสเกตบอลในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรุกหรือฝ่ายป้องกันก็ตาม ผู้เล่นแต่ละคนจะต้องมีความสามารถในการเล่นได้ทุกตำแหน่งหน้าที่ จึงจะทำให้ทีมมีประสิทธิภาพและประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้น ในการเล่นบาสเกตบอลเป็นทีม จะประกอบด้วยผู้เล่นฝ่ายละ 5 คน แต่ละฝ่ายจะมีผู้เล่นตำแหน่งและหน้าที่รับผิดชอบ ตลอดจนคุณลักษณะเฉพาะตำแหน่ง ดังนี้
1.             ผู้เล่นหน้าซ้าย หรือเรียกว่าปีกซ้าย (Left Forward) เป็นผู้เล่นที่มีหน้าที่สำคัญที่สุด คือการรุกควรมีคุณสมบัติเป็นผู้เล่นที่มีความเร็วสูง มีความคล่องตัวดี มีทักษะต่างๆในการเล่นดี สามารถยิงประตูแบบต่างๆได้ดีแม่นยำ ส่วนใหญ่ถนัดการเล่นด้านซ้ายมากกว่าขวา
2.             ผู้เล่นหน้าขวา หรือเรียกว่าปีกขวา (Right Forward) มีหน้าที่และคุณสมบัติเหมือนหน้าซ้าย แต่ส่วนใหญ่ถนัดการเล่นด้านขวามากกว่าซ้าย
3.             ผู้เล่นหลังซ้าย หรือเรียกว่าการ์ดซ้าย (Left Guard) เป็นผู้เล่นที่มีหน้าที่สำคัญที่สุด คือการป้องกันและเปิดเกมรุก ควรมีคุณสมบัติในการนำลูกขึ้นแดนหน้า เพื่อเปิดเกมรุกอย่างรวดเร็ว ทั้งรับและส่งลูก สามารถเลี้ยงลูกได้ดี ยิงประตูระยะไกลได้แม่นยำ กระโดดแย่งบอลได้ดี ควรมีรูปร่างสูงใหญ่กว่าผู้เล่นหน้ามีความถนัดการเล่นด้านซ้ายมากกว่าขวา
4.             ผู้เล่นหลังขวา หรือเรียกว่าการ์ดขวา (Right Guard) มีหน้าที่และคุณสมบัติเหมือนการ์ดซ้าย แต่ส่วนใหญ่ถนัดการเล่นด้านขวามากกว่าซ้าย
5.             ผู้เล่นกลาง หรือเรียกว่าเซ็นเตอร์ (Center) เป็นผู้เล่นที่มีการเล่นลูกบอลบริเวณพื้นที่ใต้ห่วงประตูมากที่สุด ทั้งการรุกและป้องกัน ควรมีลักษณะสูงใหญ่ มีการหมุนตัวและสามารถยิงประตูในพื้นที่ใต้ห่วงประตูได้แม่นยำ สามารถกระโดดแย่งบอลได้ดี
วิธีการป้องกัน
ในการเล่นบาสเกตบอลทีม ทีมใดที่มีการป้องกันที่ดี ย่อมส่งผลถึงการได้เปรียบฝ่ายตรงข้ามในระหว่างการเล่น ทีมป้องกันอาศัยทักษะการป้องกันส่วนบุคคล การประสานงานภายในทีมตามรูปแบบที่กำหนดไว้ จะทำในทีมประสบความสำเร็จได้ การป้องกันพื้นฐานแบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ การป้องกันเป็นเขตหรือโซน (Zone Defense) และ การป้องกันแบบคนต่อคน (Man to Man Defense) จากพื้นฐานนี้มีผู้คิดรูปแบบการป้องกันสรุปได้ เป็นแบบที่ 3 คือการป้องกันแบบผสม
1.             การป้องกันเป็นเขตหรือโซน (Zone Defense) หมายถึงการป้องกันที่มีการแบ่งเนื้อที่หรือพื้นที่ให้ผู้เล่นในทีมรับผิดชอบ ในการควบคุมและป้องกันภายในพื้นที่ของตนเองให้ดีที่สุด สายตาจะต้องจับอยู่ที่ลูกบอลตลอดเวลา การป้องกันแบบโซนนี้มีอยู่หลายวิธี คือ
1.1      การตั้งโซนแบบ 2-1-2 คือ การตั้งรับผู้เล่นอยู่หน้า 2 คนอยู่กลาง 1คน และอยู่หลัง 2 คนทำหน้าที่รับผิดชอบพื้นที่ของตน
ข้อดีของการตั้งโซนแบบ 2-1-2
1.             ช่วยป้องกันการยิงประตูระยะใกล้ได้ดี
2.             สามารถป้องกันการรุกแบบลักไก่ได้ดี
3.             ช่วยให้ได้เปรียบในการรับลูกกระดอนจากกระดานหลังได้ดี
4.             ช่วยป้องกันพื้นที่บริเวณใกล้ห่วงประตูได้อย่างแน่นอนและมีประสิทธิภาพ
ข้อเสียของการตั้งโซนแบบ 2-1-2
1.             ไม่สามารถป้องกันการยิงประตูระยะไกลได้
2.             ไม่สามารถป้องกันพื้นที่มุมสนามหรือนอกเขตโทษทั้งสองด้านได้
3.             ไม่สามารถป้องกันบริเวณเหนือเส้นโทษได้ดีเท่าที่ควร

1.2      การตั้งโซนแบบ 1-3-1 การตั้งรับผู้เล่นอยู่หน้า 1 คนอยู่กลาง 3คน และอยู่หลัง 1 คนทำหน้าที่รับผิดชอบพื้นที่ของตน
ข้อดีของการตั้งโซนแบบ 1-3-1
1.             ช่วยควบคุมและป้องกันพื้นที่บริเวณโยนโทษได้ดี
2.             ช่วยป้องกันพื้นที่ได้กว้างกว่า
3.             ช่วยควบคุมการรุกของฝ่ายรุกบริเวณเหนือเขตโทษและนอกเขตโทษด้านข้างได้ดี
4.             ช่วยป้องกันบริเวณแดนหลังได้ดี
ข้อเสียของการตั้งโซนแบบ 1-3-1
1.             ไม่สามารถป้องกันการรุกแบบลักไก่ได้ดีเท่าที่ควร
2.             ไม่สามารถป้องกันการยิงประตูจากบริเวณมุมสนามทั้งสองข้างได้
3.             ไม่มีผู้เล่นที่สามารถเล่นลูกบอลที่กระดอนจากแดนหลัง
4.             บริเวณใกล้ห่วงประตูและเส้นหลังมีที่ว่างมาก

1.3      การตั้งโซนแบบ 1-2-2 การตั้งรับผู้เล่นอยู่หน้า 1 คนอยู่กลาง 2 คน และอยู่หลัง 2 คนทำหน้าที่รับผิดชอบพื้นที่ของตน
ข้อดีของการตั้งโซนแบบ 1-2-2
1.             ช่วยป้องกันการยิงประตูระยะไกลได้ดี
2.             ช่วยให้สามารถเปิดเกมรุกด้วยลูกลักไก่ได้อย่างรวดเร็ว
ข้อเสียของการตั้งโซนแบบ 1-2-2
1.             ไม่สามารถป้องกันการยิงประตูในบริเวณเขตโทษใต้ห่วงได้ เพราะพื้นที่บริเวณกลางเขตโทษจะว่างมาก
2.             ไม่สามารถป้องกันผู้เล่นฝ่ายรุกที่ทะลุผ่านแนวหน้าเข้าไปในเขตโทษได้
3.             ไม่สามารถรับลูกกระดอนจากกระดานหลังได้ดีเท่าที่ควร
2.             การป้องกันแบบคนต่อคน (Man to Man Defense) การป้องกันแบบคนต่อคนหรือตัวต่อตัว คือการป้องกันที่ได้มอบหมายหน้าที่ให้ผู้เล่นแต่ละคนรับผิดชอบในการป้องกันและควบคุมผู้เล่นฝ่ายตรงข้ามเป็นรายบุคคล ผู้เล่นฝ่ายรับจะต้องรับผิดชอบติดตามฝ่ายรุกคนใดคนหนึ่งตลอดเวลาในสนามแข่งขัน เป็นเงาตามตัวเพื่อคอยป้องกัน แบบนี้ผู้เล่นฝ่ายรับต้องมองที่ลูกบอลและคู่ของตัวเองตลอดเวลา
 สรุปหลักการทั่วไปในการป้องกันแบบคนต่อคน
1.             ผู้เล่นจะต้องรับผิดชอบหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด
2.             ผู้เล่นจะต้องจัดคู่ป้องกันฝ่ายรุกให้สมดุลทั้งรูปร่าง ความสามารถ ตลอดจนความรวดเร็ว คล่องตัวเพื่อที่จะสามารถป้องกันได้
3.             ผู้เล่นจะต้องพยายามจัดลำดับการยืนให้อยู่ระหว่างฝ่ายรุกและห่วงประตูในแนวเส้นตรงเดียวกัน เพราะช่วยป้องกันการยิงประตูได้
4.             ผู้เล่นจะต้องพยายามป้องกันผู้เล่นฝ่ายรุกที่กำลังครอบครองบอลอยู่ไม่ให้มีโอกาสส่งลูก เลี้ยงลูกหรือเข้ายิงประตูได้
5.             ผู้เล่นจะต้องพยายามบังหรือบล็อกฝ่ายรุกไม่ให้รับลูกจากกระดานหลังได้
6.             ผู้เล่นจะต้องระมัดระวังการบังของฝ่ายรุก เมื่อเกิดการบังขึ้น อาจมีการเปลี่ยนคู่ในทันที โดยใช้เสียงบอกเพื่อนตามที่ตกลงกันไว้
7.             ผู้เล่นจะต้องพยายามบีบบังคับรุกรับ-ส่งลูกบอลกันนอกเขตเส้นโยนโทษและพร้อมเสมอที่จะปัดหรือแย่งลูกไว้ในครอบครอง
8.             เมื่อฝ่ายรุกมีการเปลี่ยนตัว ควรให้ผู้เล่นคนเดิมทำหน้าที่ควบคุมหรือป้องกันต่อไป หรืออาจเปลี่ยนคู่ใหม่ให้เหมาะสม
9.             มีไหวพริบและการป้องกันที่ดีในการป้องกัน
10.      การป้องกันแบบคนต่อคนที่ดีที่สุด ควรป้องกันฝ่ายรุกให้ชิดติดแน่นเหมือนกับกาว
ข้อดีของการป้องกันแบบคนต่อคน
1.             ผู้เล่นฝ่ายรับจะสามารถป้องกันไม่ให้ฝ่ายรุกเล่นได้สะดวก
2.             ผู้เล่นฝ่ายรับสามารถจัดคู่ป้องกันฝ่ายรุกได้เหมาะสมตามความสามารถ
3.             ผู้เล่นฝ่ายรับสามารถปรับสภาพการเล่นของฝ่ายรุกให้เข้ากับสภาพที่ตนเองถนัดได้ เช่น ดึงเกมให้ช้าหรือเร็ว
4.             ผู้เล่นฝ่ายรับจะทราบหน้าที่ของตัวเองอย่างแน่นอน สามารถรับผิดชอบหน้าที่อย่างอิสระ
ข้อเสียของการป้องกันแบบคนต่อคน
1.             ผู้เล่นจะต้องมีสภาพร่างกายสูง เพราะจะต้องเคลื่อนที่ติดตามฝ่ายรุกตลอดเวลา
2.             จะทำให้เกิดการฟาวล์ได้ง่าย มีโอกาสเสียลูกโทษมากที่สุด
3.             ผู้เล่นจะถูกบังคับจากฝ่ายรุกได้ง่าย ถ้ามีความคล่องแคล่วว่องไวและมีความสามารถเฉพาะตัวต่ำกว่า
4.             จะต้องอาศัยความสัมพันธ์และการประสานงานของทีมสูงมาก จึงมีโอกาสพลาดได้ง่าย
5.             อาจถูกฝ่ายรุกตอบโต้ด้วยการรุกแบบลักไก่ได้ง่าย
3.             การป้องกันแบบผสมผสาน (Zone and Man to Man Defense) หมายถึงการป้องกันแบบคนต่อคนและแบบโซนผสมกัน เพื่อให้เกิดความเหมาะสมต่อสถานการณ์ที่จำเป็นในการแข่งขันหรือเล่นทีม
3.1 แบบโซน 4 : คนต่อคน 1 การป้องกันแบบผสม เป็นการป้องกันแบบคนต่อคนและแบบโซนผสมกันเป็นรูปแบบสี่เหลี่ยม และอีก 1 คนป้องกันแบบคนต่อคนกับผู้เล่นฝ่ายรุกที่มีความสามารถในการเปิดเกมรุกได้ดี เช่น สร้างสรรค์เกมรุกได้ดีและยิงประตูแม่นยำ เป็นต้น
3.2 แบบโซน 3 : คนต่อคน 2 การป้องกันแบบผสมโดยจัดทีมป้องกันโซนเป็นรูปสามเหลี่ยมและอีก 2 คนป้องกันแบบคนต่อคนกับผู้เล่นฝ่ายรุกที่มีความสามารถในการเปิดเกมรุกได้ดี
วิธีการบุก
1.             การรุกเร็วหรือการลักไก่ (Fast Break Attack) ใช้ในโอกาสที่ฝ่ายตรงข้ามที่ไปตั้งรับไม่ทัน อาศัยทักษะเฉพาะตัวและการประสานงานในทีม พาลูกทีมไปยิงประตูฝ่ายตรงข้ามได้อย่างรวดเร็ว การรุกแบบรวดเร็วสนามจะถูกแบ่งเป็น 3 ส่วนเท่ากัน ตามแนวขนานกับเส้นข้างตั้งฉากกับเส้นหลัง (เพื่อแบ่งทิศทางและหน้าที่ในการรุกสามารถรุกได้ดีทีเดียวพร้อมกันทั้ง 3 ทาง) เนื่องจากการรุกเร้วสามารถรุกเข้าห่วงประตูทั้ง 3 ส่วนของสนามพร้อมกันในเวลาเดียวกัน จะทำให้ฝ่ายตรงข้ามป้องกันได้ยากขึ้น การรุกเร็วมีวิธีการเล่นได้หลายรูปแบบ แต่จะขอกล่าวเพียงบางส่วน เช่น การรุกเร็วหลังการป้องกันโดยผู้เล่นตำแหน่งต่างๆ ที่รับลูกได้ ดังนี้
                        การเล่นรุกเร็ว ถ้าผู้เล่นตำแหน่งการ์ดรับลูกบอลได้ เมื่อการ์ด 3 รับลูกได้ทุกตำแหน่งต้องวิ่งประสานงานทันที หมายเลข  1 วิ่งออกด้านข้างสนามด้านซ้ายเพื่อรอรับลูกจากการ์ด 3 หมายเลข 2 วิ่งตัดขึ้นแนวกลางสนาม หมายเลข 4 วิ่งออกด้านขวาไปยังประตูฝ่ายตรงข้าม หมายเลข 5 วิ่งออกด้านซ้ายเข้าใกล้เส้นประตู หมายเลข 2 พร้อมเลี้ยงลูกเข้ายิงกลางประตูหรือพร้อมส่งให้หมายเลข 5 หรือ 4 จะเห็นว่าสามารถรุกทันทีทั้ง 3 ทางในเวลาเดียวกัน
                        การเล่นรุกเร็ว ถ้าผู้เล่นตำแหน่งเซ็นเตอร์รับลูกบอลได้ เมื่อผู้เล่นตำแหน่งเซ็นเตอร์หมายเลข 5 รับลูกบอลได้ หมายเลข 1 และ 2 จะต้องกลับมาตรงส่วนกลาง รอรับจากการส่งบอลของหมายเลข 1 ต่อเพื่อเลี้ยงลูกเข้ายิงประตู หรือส่งลูกต่อให้หมายเลข 3 หรือ 4 ที่วิ่งไปรอรับตั้งเซนเตอร์รับลูกได้แล้วเพื่อยิงประตู
                        การเล่นรุกเร็ว ถ้าผู้เล่นตำแหน่งปีกรับลูกบอลได้ เมื่อปีกหมายเลข 2 รับลูกบอลได้ส่งให้ปีกหมายเลข 2 ซึ่งวิ่งมารับลูกตรงส่วนกลางเลี้ยงลูกเข้าไปใกล้เส้นโทษ เพื่อยิงประตูหรือส่งลูก หมายเลข 5 วิ่งไปข้างสนามด้านซ้าย หมายเลข 2 วิ่งไปข้างสนามด้านขวา พร้อมยิงประตูทั้ง 2 และ 5
2.             การรุกช้า (Slow or deliberate Attack) การรุกช้าเป็นยุทธวิธีอีกวิธีหนึ่ง ที่ใช้กรณีฝ่ายตรงข้ามสามารถถอยป้องกันได้ทัน ทำให้ความสามารถในการพาลูกบอลเข้าไปยิงประตูฝ่ายตรงข้ามช้าลงหรือยากขึ้น จึงจำเป็นต้องหารูปแบบยุทธวิธีในการรุก โดยสังเกตจุดอ่อนของฝ่ายตรงข้ามในการป้องกัน เพื่อนำรูปแบบของการรุกของทีมมาใช้อย่างเหมาะสม การรุกช้ามีรูปแบบหลายรูปแบบ แต่เพื่อความเหมาะสมทั้งความพร้อม ความสามารถ และระยะเวลาการฝึกซ้อมของนักเรียน ในระดับนี้เพียงบางส่วน
                        การรุกแบบ 2-3
การรุกแบบ 2-3 คือการรุกที่มีผู้เล่น 2 คน กระจายอยู่บริเวณใกล้ห่วงประตู ส่วนผู้เล่นอีก 3 คน กระจายรับผิดชอบบริเวณครึ่งวงกลมที่เขตยิงโทษในเนื้อที่เท่าๆกัน
                        การรุกแบบ 1-3-1
การรุกแบบ 1-3-1 คือ การมีผู้เล่น 1 คนรับผิดชอบบริเวณใกล้ห่วงประตู และผู้เล่นอีก 1 คนอยู่ด้านนอก ส่วนผู้เล่นอีก 3 คน กระจายรับผิดชอบบริเวณตรงกลาง ปัจจุบันการรุกแบบนี้นิยมใช้กันมาก ถ้ามีการประสานงานในระหว่างการเล่นของทีมที่ดี จะทำให้ผู้เล่นในทีมสามารถมีโอกาสทำประตูได้ทุกระยะ ยากต่อการป้องกัน
                        การรุกแบบคนต่อคน (Man to Man Attack) เป็นการรุกเมื่อฝ่ายตรงข้ามป้องกันแบบคนต่อคน โดยยึดหลักดังนี้
1)            ใช้ความสามารถทักษะเฉพาะตัวสูงเล่นกับฝ่ายป้องกันที่ด้อยกว่า
2)            ใช้กลยุทธ์ในการบังเพื่อให้ตนมีโอกาสยิงประตู
การเล่นทีมบาสเกตบอล เป็นการฝึกให้นักเรียนสามารถนำทักษะต่างๆที่ได้เรียนมาทำหน้าที่การเป็นผู้เล่นฝ่ายรุกและฝ่ายป้องกัน ซึ่งการเล่นบาสเกตบอลยังช่วยให้นักเรียนรู้จักการสร้างสัมพันธ์ในทีม อันก่อให้เกิดความสามัคคี ความรับผิดชอบในหน้าที่ ตลอดจนการมีคุณลักษณะการเป็นผู้นำและเป็นผู้ตามที่ดี รู้จักการใช้บาสเกตบอลเพื่อเป็นสื่อในการออกกำลังกาย สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการดำรงชีวิตประจำวันได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น